bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๗ ก.ค.๖๒ จีนเตือนอังกฤษให้วางตัวอย่างเหมาะสมและหยุดแทรกแซงกิจการของฮ่องกงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เนื่องจากมีรายงานข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีที่นายเจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ประกาศแถลงการณ์ระบุว่า อังกฤษจะติดตามสถานการณ์ของฮ่องกงอย่างใกล้ชิดต่อไป จากเหตุการณ์ที่ฮ่องกงเกิดการเคลื่อนไหวประท้วง โดยกล่าวถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลอังกฤษให้ไว้ใน “แถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษ” ว่าก่อนที่จะมีการส่งมอบฮ่องกงคืนสู่ปิตุภูมิ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย และยังคงบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนที่มีการลงนามและประกาศแถลงการณ์ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาความเคลื่อนไหวจากจีนกล่าวคือ
        ๑.๑ เมื่อวันที่ ๑ ก.ค.๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวว่า จีนขอเตือนให้อังกฤษวางตัวอย่างเหมาะสม หยุดแทรกแซงกิจการของฮ่องกงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และปฏิบัติในสิ่งที่เป็นผลดีต่อความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของฮ่องกง ไม่ใช่ทำในสิ่งตรงข้าม
        ๑.๒ เมื่อวันที่ ๓ ก.ค.๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบโต้คำกล่าวของนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ที่กล่าวในวันที่ ๒ ก.ค.๖๒ เกี่ยวกับฮ่องกงของจีนว่า การที่อังกฤษถือตนว่ายังเป็น “ผู้คุ้มครอง” ฮ่องกงนั้น เป็นการคิดเพ้อเจ้อโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ นายหลิว เสี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำอังกฤษ ได้กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าว โดยแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งและคัดค้านอย่างเด็ดขาดที่อังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการฮ่องกงและกิจกายภายในของจีน รวมทั้งได้มีเว็บไซต์ทางการของสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศจีนประจำฮ่องกงแถลงว่า จีนไม่พอใจอย่างรุนแรงกับคำกล่าวต่อกิจการฮ่องกงของรัฐมนตรีการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้รับผิดชอบกระทรวงการต่างประเทศจีนประจำฮ่องกงได้ประท้วงอย่างเป็นทางการกับผู้รับผิดชอบสถานกงสุลอังกฤษประจำฮ่องกงแล้ว
        ๑.๓ เมื่อวันที่ ๔ ก.ค.๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเน้นว่า จีนได้ตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยวต่อคำกล่าวที่ผิดพลาดของนายเจรามี ฮันต์ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของรัฐบาลอังกฤษ

๒. ข้อสังเกต มีผู้สันทัดกรณีการเมืองระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นว่า จากกรณีเหตุการณ์ที่มีกลุ่มหัวรุนแรงบุกเข้าไปในอาคารนิติบัญญัติฮ่องกง และมีนักการเมืองอังกฤษได้ใช้แถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษเป็นข้ออ้างในการประกาศสนับสนุนต่อชาวฮ่องกงในการรักษาอิสระที่อังกฤษมอบให้ และกล่าวถึงทางการฮ่องกงว่าไม่ควรใช้การกระทำรุนแรงดังกล่าวนั้น เป็นการสร้างความปั่นป่วนให้กับสถานการณ์ โดยมีข้อผิดพลาดหลายประการ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมายอย่างเปิดเผยแล้ว ยังเป็นการแทรกแซงกิจการฮ่องกงและกิจการภายในของจีนอย่างรุนแรง และเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อังกฤษอีกด้วย กล่าวคือ
        ๒.๑ แถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษ เป็นเอกสารทางการเมืองที่จีนและอังกฤษร่วมกันลงนามในปี ค.ศ.๑๙๘๔ (พ.ศ.๒๕๒๗) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ปี ๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) สิทธิอำนาจและพันธกรณีต่าง ๆ ของอังกฤษที่กำหนดไว้ในแถลงการณ์ดังกล่าวถือว่าได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว และแถลงการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้ว อังกฤษจึงไม่มีอำนาจอธิปไตย อำนาจในการบริหารปกครอง และอำนาจในการควบคุมฮ่องกงอีกต่อไป
        ๒.๒ การที่ชาวอังกฤษบางคนระบุว่า อังกฤษเป็นผู้มอบความเป็นอิสระและเสรีภาพแก่ชาวฮ่องกง อีกทั้งยังสร้างข่าวลือว่า เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้วไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง นายมาร์ติน จาคุส นักวิชาการอังกฤษ ระบุถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า คำพูดดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความไม่จริงใจของอังกฤษอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ฮ่องกงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษนั้น ชาวฮ่องกงไม่เคยเห็นแม้แต่เงาของประชาธิปไตยเลย เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า ยุคที่อังกฤษปกครองฮ่องกง รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงทุกสมัย ชาวฮ่องกงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองทางกฎหมาย ตลอดจนไม่มีความเป็นอิสระและประชาธิปไตยรูปแบบใด
        ๒.๓ ทางการฮ่องกงรับมือการใช้ความรุนแรงอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างไม่ต้องสงสัย กฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงให้สิทธิและอิสระในการแสดงความคิดเห็น ชุมนุมและประท้วง แต่ผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น และไม่ส่งผลกระทบถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความปลอดภัยสาธารณะ และยิ่งไม่ควรกระทำผิดกฎหมายและใช้ความรุนแรง

บทสรุป
วันที่ ๑ ก.ค.๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองรำลึกฮ่องกงคืนสู่มาตุภูมิและการสถาปนาเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แต่ได้เกิดเหตุการณ์มีกลุ่มคนหัวรุนแรงใช้กำลังบุกอาคารสภานิติบัญญัติฮ่องกง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษแสดงความเห็นที่ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน จนทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนต้องออกมาประท้วงและตอบโต้ ในขณะที่มีข้อคิดเห็นจากนายมาร์ติน จาคุส (Martin Jacques) นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนได้เขียนบทความในหัวข้อ “จีนจะเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร?” มีใจความว่า ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะต้องหาวิธีการในการไปมาหาสู่กับจีน จะยึดเอาแต่ประเทศตัวเอง และอยู่ในกรอบที่เขียนเองไม่ได้อีกต่อไป ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกใหม่ ยอมรับจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญ และกำหนดวิธีของความร่วมมือและการแข่งขันกับจีนในรูปแบบใหม่ โดยนายจาคุส เน้นว่า ประเทศตะวันตกจะต้องเริ่มลองทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างจีนกับตะวันตก

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3017095/china-protests-britain-over-british-foreign-secretary-jeremy

http://thai.cri.cn/20190702/9e9b4bc4-703a-3ee1-c0ee-ddd2cf8c5c9c.html

http://thai.cri.cn/20190704/df6d95ff-1226-422d-d9c2-e364f48a67da.html

http://thai.cri.cn/20190706/f82252bd-7209-3380-5d72-9ac0edfac7ee.html

http://thai.cri.cn/20190508/ff5e69bf-1a03-f493-6866-2c44b9d0d6f0.html

http://thai.cri.cn/20190704/b7c1b059-a512-d4fc-77d0-32cbea5249c2.html

http://thai.cri.cn/20190704/f492d8f9-33fd-1676-39ff-b4d192f1f3c5.html