ขอนำเสนอประเด็นหลักใน "ข้อเสนอของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะห้าปี ฉบับที่ ๑๔ รวมถึงแผนระยะยาว ปี ๒๐๓๕" (中共中央关于制定国民经济和社会发展 第十四个五年规划和二〇三五年远景目标的建议) ที่นอกจากจะเน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้นและการใช้ชีวิตที่มั่งคั่งร่วมกันแล้ว ยังได้เน้นถึงประเด็นอื่นๆ อีก อันได้แก่
๑. นวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนความทันสมัยของประเทศจีน โดยจะถือการพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเองเป็นกำลังหลักเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เพื่อเศรษฐกิจและความต้องการภายในที่สำคัญ อีกทั้งทำให้ชีวิตและสุขภาพของประชาชนมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น จากการดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาและปรับปรุงระบบการสร้างนวัตกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งการเร่งสร้างประเทศจีนให้เป็นประเทศที่มีความยิ่งใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๒. รูปธรรมที่จะต้องบรรลุเป้าหมาย โดยภายในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนจะเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับปานกลาง จากการที่กลุ่มผู้มีรายปานกลางเพิ่มมากขึ้น และมีความเสมอภาคด้านบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท และช่องว่างระดับการใช้ชีวิตของประชาชนจะลดน้อยลงในขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตของประชาชนจะดีขึ้นจากกระบวนการการพัฒนาอย่างรอบด้านที่มีผลคืบหน้าอย่างชัดเจน
๓. ข้อสังเกต ร่างแผนระยะห้าปี ฉบับที่ ๑๔ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาในขั้นตอนใหม่ เพื่อปฏิบัติตามแนวคิดการพัฒนาในการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงเพิ่มการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน สร้างสรรค์การพัฒนารูปแบบใหม่โดยการวางแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนของส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีเลขาธิการฯ สี จิ้นผิง เป็นแกนนำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวในปี ๒๐๓๕ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
บทสรุป
ร่างแผนระยะห้าปี ฉบับที่ ๑๔ จะดำเนินไปตามที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้กล่าวคำปราศรัยสำคัญในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ ๓๐ ต.ค.๖๓ ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว การพัฒนาของประเทศจีนยังอยู่ในช่วงสำคัญที่มีโอกาสเชิงยุทธศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อีกมาก ดังนั้น การร่างแผนระยะห้าปี ฉบับที่ ๑๔ จึงต้องยึดแนวคิดสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจีนยุคใหม่ของเลขาธิการฯ สี จิ้นผิง ที่เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามแนวทางการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ ๑๙ ครั้งที่ ๕ ซึ่งได้ประชุมในระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ ต.ค.๖๓ เป็นแนวทางหลัก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์