bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๙ ก.ย.๖๑ : การประชุมว่าด้วยการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก (The World Conference on Science Literacy)

การประชุมว่าด้วยการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก (The World Conference on Science Literacy) ครั้งแรก โดยจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ ก.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การประชุมดังกล่าว อยู่ภายใต้หัวข้อ "ยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของสาธารณชนกับประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ" โดยมีเป้าหมายให้ที่ประชุมได้มีการรับรู้ร่วมกันก่อนการประกาศ "ปฏิญญาปักกิ่ง" เพื่อเดินหน้าจัดตั้งและปรับปรุงกลไกความร่วมมือด้านการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประชาชนทั่วโลก ตลอดจนจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

๒. การประชุมในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลายคน ผู้แทนกลุ่มและองค์กรวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจาก ๓๗ ประเทศ เช่น สมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐ ราชสมาคมแห่งลอนดอน สมาพันธ์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมแห่งรัสเซีย ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ๒๒ องค์กร เป็นต้น จะเดินทางมาร่วมการประชุมที่จีน และร่วมหารือแผนการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในหมู่ประชาชนทั่วโลกให้สูงขึ้น

๓. ข้อสังเกต เมื่อวันที่ ๒ พ.ค.๖๑ ทางการเซี่ยงไฮ้มอบบัตรอนุญาตพำนักอาศัยถาวรในจีนแก่ชาวต่างชาติ ๗ คน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเข้าออกเมือง การใช้ชีวิตและการทำงานในจีน โดยรวมถึง ศาสตราจารย์ เบอร์นาร์ด แอล. เฟรินกา (Bernard L. Feringa) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๒ ต.ค.๖๐ ได้มีการเปิดศูนย์ร่วมวิจัยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเฟรินกา ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างทีมวิจัยของศาสตราจารย์เฟรินกา มหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน กับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหัวตงของจีน ศูนย์วิจัยนี้ถือการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ และได้รับผลงานการศึกษาค้นคว้าใหม่เป็นเป้าหมาย ซึ่งจะร่วมกับทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมี วัสดุ ชีวภาพ เคมีคำนวณ นาโนเทคโนโลยี วิศวกรรมโมเลกุล เป็นต้น เพื่อจัดตั้งเป็นเวทีวิจัยพิเศษที่ทรงอิทธิพลในโลก

บทสรุป

จีนให้ความสำคัญกับการเดินหน้าจัดตั้งและปรับปรุงกลไกความร่วมมือด้านการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ นอกจากการจัดประชุมเพื่อระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกแล้ว ยังได้มีการมอบบัตรอนุญาตพำนักอาศัยถาวรในจีนแก่ชาวต่างชาติที่จะทำคุณประโยชน์แก่วงการวิทยาศาสตร์ อันเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าออกเมือง การใช้ชีวิตและการทำงานในจีน ดังกรณีที่ทางการเซี่ยงไฮ้มอบให้กับศาสตราจารย์ เบอร์นาร์ด แอล. เฟรินกา (Bernard L. Feringa) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมี เป็นต้น รวมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ของจีน โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนมีจดหมายแสดงความยินดีถึงนางถู โยวโยว เนื่องในโอกาสที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และสรีรวิทยา เมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ดังนั้น การจัดการประชุมว่าด้วยการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ ก.ย.๖๑ ณ กรุงปักกิ่ง จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศของจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.wfeo.org/events/world-conference-science-literacy-2018/

http://thai.cri.cn/247/2018/09/07/233s270892.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/05/03/233s266802.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/10/23/230s259656.htm 

http://thai.cri.cn/247/2015/10/06/223s236339.htm 

http://www.xinhuanet.com/english/2018-09/06/c_137450012.htm