bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา (วันเสาร์ที่ ๑ มิ.ย.๖๒) ขอนำเสนอกรอบแนวคิดของข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ Belt and Road Initiative หรือ BRI (ตอนที่ ๔ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของจีน)

๑. การที่รัฐบาลจีนมุ่งหวังจะผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของจีน เพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลยูนนานของจีน มีความตื่นตัวและได้กำหนดแผนการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๘ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อำเภอเหมิ่งล่ากลายเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว คมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒. วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้มณฑลยูนนานผลักดัน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” และมีการจัดวางพื้นที่การพัฒนาในลักษณะ “สองเส้นทาง สองศูนย์กลาง ห้าพื้นที่ทำงาน” กล่าวคือ
    ๒.๑ "สองเส้นทาง" ได้แก่
        ๒.๑.๑ เส้นทางเศรษฐกิจตำบลเหมิ่งหลุน-บ่อหาน อาศัยความได้เปรียบของเส้นทาง R3A และมีด่านบ่อหาน ตำบลเหมิ่งล่า และตำบลเหมิ่งหลุน เป็นจุดสำคัญ แล้วเชื่อมต่อเส้นทางขึ้นเหนือเข้าสู่ประเทศจีน จากเมืองจิ่งหง เมืองผูเอ่อร์ เมืองยวี่ซี สู่นครคุนหมิง และลงใต้เชื่อมต่างประเทศคือ ลาวและไทย โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางบก โลจิสติกส์และคลังสินค้า การค้าระหว่างประเทศ การแปรรูปเพื่อการส่งออก วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
        ๒.๑.๒ เส้นทางเศรษฐกิจแนวลำน้ำจากท่าเรือจิ่งหง-ท่าเรือกวนเหล่ย อาศัยความได้เปรียบด้านการขนส่งทางเรือนานาชาติเชื่อมต่อกับประเทศลาว เมียนมาและไทย โดยมีท่าเรือจิ่งหงและท่าเรือกวนเหล่ยเป็นจุดสำคัญ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ การขนส่งทางน้ำ และการท่องเที่ยว
    ๒.๒ "สองศูนย์กลาง" ได้แก่
        ๒.๒.๑ ศูนย์กลางแรก เป็นเขตความร่วมมือเศรษฐกิจบ่อหาน อาศัยความได้เปรียบของเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหานที่ได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรและการตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา และไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การแปรรูปเพื่อการส่งออก การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน รวมถึงเร่งวางแผนสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) เพื่อให้กลายเป็นด่านระหว่างประเทศที่มีความทันสมัยเชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นเขตระดับแนวหน้าของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีน-ลาว
        ๒.๒.๒ ศูนย์กลางที่สอง เป็นเขตบริการอันทันสมัยเหมิ่งล่า อาศัยตำบลเหมิ่งล่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจบริการ เช่น การเงิน โลจิสติกส์ ข่าวสารข้อมูล การรักษาพยาบาล สันทนาการ บ้านพักคนชรา เพื่อให้กลายเป็นเขตบริการการค้าระหว่างประเทศ ช่องทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ และเมืองแห่งการพักผ่อนเชิงนิเวศนานาชาติ
    ๒.๓ "ห้าพื้นที่ทำงาน" ได้แก่
        ๒.๓.๑ พื้นที่เศรษฐกิจท่าเรือ เร่งพัฒนาการค้า ระบบขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อให้กลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าและท่าเรือนานาชาติแม่น้ำโขง
        ๒.๓.๒ พื้นที่แปรรูปเพื่อการนำเข้าส่งออก เร่งสร้างเขตแปรรูปเพื่อการนำเข้าส่งออกที่ครบครัน โดยมีการแปรรูป การค้าและโลจิสติกส์ รวมในแหล่งเดียว
        ๒.๓.๓ พื้นที่วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อาศัยความได้เปรียบของวัฒนธรรมใบลานชนเผ่าไทลื้อและนิเวศวิทยาของป่าฝนเขตร้อนในสิบสองปันนาเป็นสำคัญ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม อาทิ สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา แหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศ (ระดับ 5A) เขตชมวิวว่างเทียนซู่ (4A) และ สวนชาโบราณผูเอ่อร์ เพื่อเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ และการศึกษาวิทยาศาสตร์ เพื่อให้กลายเป็นเขตสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์และแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
        ๒.๓.๔ พื้นที่เกษตร เร่งพัฒนาพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ใบชา อ้อย มะรุม และผลไม้เมืองร้อน เพื่อให้กลายเป็นเขตสาธิตเกษตรที่โดดเด่น
        ๒.๓.๕ พื้นที่นิเวศ อาศัยความได้เปรียบของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติเขตฯ สิบสองปันนา และ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติข้ามพรมแดนจีน-ลาว เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนา เพื่อเร่งผลักดันการสร้างระบบควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนจีน-ลาว ดำเนินกิจกรรมสาธิตระบบนิเวศวิทยาและการสร้างความปลอดภัยด้านนิเวศ และบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

บทสรุป

การที่อำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) อยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ ๑ ใน ๖ แห่งของจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และจากการที่เหมิ่งล่าอยู่ห่างจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๒๕๐ กม. จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงจากด่านชายแดนจีนผ่านลาวถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting-facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17040 , รวมทั้งเว็บไซต์ http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting- facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17042 และเว็บไซต์ของสถานกงสุลไทย ณ นครคุนหมิง http://www.thaiembassy.org/kunming/th/thai-people/17366-ข้อมูลทั่วไปของมณฑลยูนนาน.html )