bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๐ ส.ค.๖๒ กรณีที่จีนและสหรัฐฯ ต่างร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการไกล่เกลี่ย (UN Convention on International Settlement Agreements Resulting from Mediation) ที่ประเทศสิงคโปร์

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. แม้ว่าจีนกับสหรัฐฯ กำลังทำสงครามการค้ากันอยู่นั้น แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็เป็น ๒ ประเทศในจำนวน ๔๖ ประเทศ ที่เห็นพ้องด้วยกับอนุสัญญาว่าด้วยข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการไกล่เกลี่ย เพื่อให้กรณีการไกล่เกลี่ยเป็นทางเลือกหนึ่งในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ เสนอแนะ หาทางออกในการยุติหรือระงับข้อพิพาทให้คู่กรณี แต่หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ทำตามข้อตกลง ประเทศคู่กรณีก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น การบังคับใช้ จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ยังขาดหายไปในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากการไกล่เกลี่ยแล้ว ประเทศคู่กรณีอาจจะเลือกใช้วิธีอื่นในการหาข้อยุติ เช่น อนุญาโตตุลาการ หรือการนำคดีขึ้นสู่การพิจาณาพิพากษาของศาล เป็นต้น

๒. อนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า อนุสัญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย (Singapore Convention on Mediation) ที่ตั้งขึ้นเพื่อยกย่องสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่างและจัดทำอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อช่วยให้การบังคับใช้ข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีการลงทุนมหาศาลในต่างประเทศ ต่างเห็นความสำคัญของการมีกลไกหรือกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการบังคับใช้ระงับข้อพิพาทต่างๆ

๓. ข้อสังเกต
       ๓.๑ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR) เป็นการระงับข้อพิพาทนอกศาลโดยอาจใช้วิธีการเจรจาและการหารือ (Consultation and Negotiation) การไกล่เกลี่ย (Mediation) และการประนีประนอมยอมความ (Conciliation) เช่น การระบุให้มีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทโดยใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากกว่าการใช้ข้อบทกฎหมาย เป็นต้น
       ๓.๒ สำหรับอาเซียน ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านกลไกการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙ ) คือ ได้จัดทําพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ฉบับปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙) ซึ่งได้กําหนดกลไกระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ต่อมาได้มีการปรับปรุงเป็นพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจฉบับใหม่ของอาเซียน (Protocol on ASEAN Enhanced Dispute Settlement Mechanism) เรียกโดยย่อว่า "พิธีสาร EDSM” และลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย. ปี ๒๐๐๔ (พ.ศ.๒๕๔๗) ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน

บทสรุป
ทั้งจีนและสหรัฐฯ แม้จะกำลังทำสงครามการค้ากันอยู่ก็ตาม แต่ต่างก็เห็นความสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการไกล่เกลี่ย เพื่อให้กรณีการไกล่เกลี่ยเป็นทางเลือกหนึ่งในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยนายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้นำคณะผู้แทนรัฐบาลจีนร่วมพิธีลงนามในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๗ ส.ค.๖๒ ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ ได้ใช้เวลา ๔ ปีในการศึกษาและร่างขึ้นโดยคณะกรรมการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติ โดยได้ผ่านการพิจารณาจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือน ธ.ค. ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑)

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

 

ข้อมูลจาก
http://www.xinhuanet.com/english/2019-08/07/c_138291506.htm

http://thai.cri.cn/20190808/d3d6873a-dc28-95d2-9c66-30eca3b38d05.html

https://www.voathai.com/a/un-convention-international-settlement-agreements-resulting-from-mediation-singapore-convention/5020663.html

http://www.mfa.go.th/business/contents/files/customize-20140602-100942-243117.pdf

http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=5626&filename=index

https://www.straitstimes.com/singapore/key-facts-about-the-singapore-convention-on-mediation

https://www.reuters.com/article/us-un-convention-singapore/un-members-sign-mediation-convention-to-settle-trade-disputes-idUSKCN1UX093

http://www.china.org.cn/world/2019-08/07/content_75076360_4.htm