การจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC) ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๙ พ.ค.๖๒ สำนักงานสารนิเทศ คณะรัฐมนตรีจีน เปิดเผยว่า การประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียที่จะเริ่มขึ้นที่กรุงปักกิ่งในวันที่ ๑๕ พ.ค.๖๒ โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมในพิธีเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์ นอกจากนี้ ยังมีประมุขและผู้นำต่างประเทศมาเข้าร่วม รวมถึงกัมพูชา กรีซ สิงคโปร์ ศรีลังกา อาร์เมเนีย และมองโกเลีย เป็นต้น ตลอดจนผู้รับผิดชอบจากองค์การยูเนสโก และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ สำหรับหัวข้อการประชุมครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน
๒. กิจกรรมสำคัญในการประชุมฯ ครั้งนี้ นอกจากพิธีเปิดงานแล้ว ยังมีการเสวนาในประเด็นต่าง ๆ เช่น เทศกาลวัฒนธรรมเอเชีย และสัปดาห์อารยธรรมเอเชีย เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจีนและต่างชาติจะมีโอกาสศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอารยธรรม นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ยังจะมีการจัดเทศกาลอาหารเอเชียในกรุงปักกิ่ง เมืองหางโจว เมืองกว่างโจว และเมืองเฉิงตู อีกด้วย
๓. ข้อสังเกต นายแพทย์อามีร์ ฮูแมน คาเซมี (Amir Hooman Kazemi) จากอิหร่าน จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ด้วย ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกวิชาการฝังเข็มของจีน โดยเริ่มเรียนการแพทย์แผนจีนที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีน ที่กรุงปักกิ่ง ตั้งแต่ปี ๒๐๐๕ (พ.ศ.๒๕๔๘) จนถึงปี ๒๐๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๓) ก็สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเอกวิชาการฝังเข็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในอายธรรมที่สำคัญของจีน
บทสรุป
การประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียในครั้งนี้ มุ่งแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย ซึ่งวิชาการฝังเข็มของจีน เป็นอารยธรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะสมาคมฝังเข็มแพทย์แผนจีนของสหรัฐอเมริกา (AAOA) เมืองโรสมีด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อรองรับการนำเสนอของ Judy Chu ผู้แทนมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่เสนอเรื่อง “แผนการนำการฝังเข็มของจีนเพิ่มในประกันสุขภาพของสหรัฐฯ” เนื่องจากพบว่ามีจดหมายมากกว่า ๒๕,๐๐๐ ฉบับ จาก ๔๔ มลรัฐ ที่สนับสนุนการฝังเข็มให้รวมอยู่ในแผนประกันสุขภาพหลัก จนทำให้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ อนุญาตให้แต่ละมลรัฐตัดสินใจว่า ต้องการให้การฝังเข็มครอบคลุมอยู่ในแผนการรักษาของประกันหรือไม่ ดังนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้ลงนามข้อเสนอในการนำการฝังเข็มของแพทย์แผนจีนเข้ามาเป็นทางเลือกในการรักษาอาการปวดอย่างถูกกฎหมาย เมื่อช่วงปลายปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑)
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://english.scio.gov.cn/scionews/2019-05/09/content_74767166.htm
http://thai.cri.cn/20190509/4dbb971a-2e47-a6ff-34db-3c3723415332.html
http://thai.cri.cn/20190508/2224a666-6684-e1ac-32d4-1a4c7ddd5c73.html
http://thai.cri.cn/20190425/e752c279-531d-a384-736b-e6ab36efee77.html
http://english.scio.gov.cn/pressroom/2019-05/10/content_74770323.htm