bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๒ พ.ค.๖๑ : การลงทุนทั่วโลกด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกในปี พ.ศ.๒๕๖๐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ โดยจีนลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง

การลงทุนทั่วโลกด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ โดยจีนลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ ชี้ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ จีนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง สำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน มีมูลค่า ๑.๒๖ แสนล้านเหรียญ หรือ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั่วโลก ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในลำดับที่ถัดจากจีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (๔.๐๕ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (๑.๓๔ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) อินเดีย (๑.๐๙ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) เยอรมนี (๑.๐๔ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ออสเตรเลีย (๘.๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ) สหราชอาณาจักร (๗.๖ พันล้านเหรียญสหรัฐ) บราซิล (๖ พันล้านเหรียญสหรัฐ) เม็กซิโก (๖ พันล้านเหรียญสหรัฐ) และสวีเดน (๓.๗ พันล้านเหรียญสหรัฐ)

๒. จากแผนพัฒนาพลังงานระยะห้าปี (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า จีนจะจัดสรรงบประมาณ ๒.๕ ล้านล้านหยวน หรือราว ๓.๖๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนภายในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ในขณะที่สำนักงานบริหารจัดการพลังงานแห่งชาติระบุว่า กำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ จะคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ.๒๕๖๓ โดยที่คณะกรรมการการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ (NDRC) ซึ่งเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจของประเทศระบุว่า พลังงานลมจะได้รับเงินอุดหนุนราวเจ็ดแสนล้านหยวน พลังงานน้ำได้ห้าแสนล้านหยวน ส่วนที่เหลือจะเป็นของพลังงานน้ำขึ้น-น้ำลง และพลังงานความร้อนใต้พิภพ

๓. นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ จีนได้กลายเป็นประเทศที่ลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยได้ลงทุนในพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไปแล้วประมาณสามล้านล้านบาท และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ ศักยภาพเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าภายในปี พ.ศ.๒๕๗๓ การผลิตไฟฟ้า ๒๐% จะต้องมาจากเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ ซึ่งรวมถึงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย โดยขณะนี้การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง ๑๑% อันสอดรับกับแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาพลังงานเพื่อการผลิตและบริโภคพลังงานที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอ ที่เรียกย่อๆ ว่า “๔ ปฏิวัติ ๑ ความร่วมมือ” โดย ๔ ปฏิวัติคือ

        (๑) ปฏิวัติการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินความจำเป็น

        (๒) ปฏิวัติการผลิตและส่งเพื่อให้ทั่วถึง และมีแหล่งพลังงานที่หลากหลายมากขึ้น

        (๓) ปฏิวัติเทคโนโลยีด้านพลังงาน และยกระดับอุตสาหกรรมพลังงาน

        (๔) ปฏิวัติโครงสร้าง เพื่อเปิดช่องให้ปฏิบัติได้เร็วขึ้น 

ส่วนคำว่า “๑ ความร่วมมือ” หมายถึง การเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ

บทสรุป

อาจกล่าวได้ว่า จีนซึ่งเป็นเจ้าตลาดพลังงานรายใหญ่ของโลก กำลังหันหางเสือจาก “พลังงานถ่านหิน” ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมาหลายทศวรรษไปสู่พลังงานประเภทอื่นที่สะอาดมากขึ้น เนื่องจากจีนต้องการเอาชนะสงคราม “มลพิษทางอากาศ” ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว โดยจีนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสง่างามโดยไม่มีข้อครหาจากนานาประเทศเรื่องการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จีนกำลังพยายามผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจพลังงาน เช่น กังหันลมปั่นไฟ ของบริษัท Shenyang Power Group เป็นต้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://mgronline.com/china/detail/9610000045680

https://www.bbc.com/thai/international-40239013 

http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=545&ID=3515

https://www.posttoday.com/travel/522309