bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๓ ก.ค.๖๒ บทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ตอนที่ ๑ เป้าหมายและทิศทาง)

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี ๒๐๑๒ – ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) นับตั้งแต่ที่นาย สี จิ้นผิง ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๘ เมื่อปลายปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) และต่อมาได้เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศภารกิจหลักของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ คือ การนำพาประชาชาติจีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีนบรรลุถึง “ความฝันของจีน” (中国梦/China Dream ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรแบบพินอิน หรือตัวอักษรแทนการออกเสียงได้ว่า Zhōngguวัยเรีó mèng ออกเสียงว่า จงกั๋วเมิ้ง) โดยการผลักดันการฟื้นฟูครั้งใหญ่แห่งประชาชาติจีน ได้แก่ การฟื้นฟูประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างความมั่งคั่ง สรรค์สร้างสังคมที่ดีขึ้น และขยายกำลังกองทัพ พร้อมกับได้ปลุกคนหนุ่มสาวให้กล้าที่จะฝัน ทำงานหนักเพื่อที่จะบรรลุฝัน ไปพร้อม ๆ กับอุทิศให้แก่ประเทศชาติ กล่าวคือ

        ๑.๑ ประการแรก ได้ตั้งเป้าหมาย (ENDs) ว่า ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ประเทศจีนจะเป็นสังคมที่ประชาชน มีฐานะพออยู่พอกินอย่างทั่วถึงในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พรรคฯก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๒๑ หรือ พ.ศ.๒๔๖๔) รวมทั้งในปี ๒๐๔๙ (พ.ศ.๒๕๙๒) จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มั่งคั่งเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย มีอารยธรรมและมีความปรองดองในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (ประเทศจีนใหม่สถาปนาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๔๙ หรือ พ.ศ.๒๔๙๒)
        ๑.๒ ประการที่สอง ได้กำหนดวิธีการ หรือ แนวทาง (WAYs) ที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ภายใต้การยืนหยัดและพัฒนาสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีน ได้แก่
                (๑) องค์ประกอบแรก เป็นการสร้างประเทศให้เข้มแข็งมั่งคั่งด้วยการบูรณาการงานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ
                (๒) องค์ประกอบที่สอง เป็นการนำพาประชาชาติให้เจริญรุ่งโรจน์ด้วยการปฏิรูปอย่างถึงแก่นและรอบด้าน มีระบบการปราบปรามการคอร์รัปชั่นที่ทันสมัย
                (๓) องค์ประกอบที่สาม เป็นการทำให้ประชาชน อยู่ดีมีสุขโดยได้รับการศึกษาในยน มีรายได้จากงานที่มั่นคง ได้รับการรักษายามเจ็บป่วย ได้รับการดูแลยามแก่ชรา มีบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง
         ๑.๓ ประการที่สาม การพิจารณาใช้เครื่องมือ หรือทรัพยากร (MEANs) ในการปฏิรูปประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและการทหาร รวมทั้งด้านการต่างประเทศที่จะต้องบูรณาการในการนำประเทศจีนให้ไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ดังที่กล่าว โดยต้องอาศัยปัจจัยสองประการ ได้แก่
               (๑) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งต้องมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการปราศจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและสังคม
               (๒) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภายนอกประเทศ ซึ่งต้องมีสันติภาพและเสถียรภาพ เพื่อลดอุปสรรคจากการที่ต้องเข้าไปวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหาภายนอกที่จะสร้างความรำคาญ เช่น ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวหวีระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เป็นต้น

๒. ช่วงที่สองของการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นต้นไป จากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ ตุลาคม ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาในอนาคต ๓๐ ปีของจีน (ค.ศ.๒๐๒๐ – ๒๐๕๐) โดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงเวลา ได้แก่
        ๒.๑ ช่วง ๑๕ ปีแรก (ค.ศ.๒๐๒๐ – ๒๐๓๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๗๘) ซึ่งภายในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) มุ่งสู่เป้าหมายในการทำให้จีนก้าวขึ้นเป็น “ประเทศนวัตกรรมชั้นนำของโลก” ด้วยการเสริมสร้างพลังอานาจทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และลดช่องว่างรายได้ระหว่างประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทให้ลดลง รวมทั้งการพัฒนารักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และ
        ๒.๒ ช่วง ๑๕ ปีถัดมา (ค.ศ.๒๐๓๕ – ๒๐๕๐ หรือ พ.ศ.๒๕๗๘ – ๒๕๙๓) ภายในปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) มุ่งสู่เป้าหมายให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มีความมั่งคั่ง มีอานาจ มีความสงบสุข มีความสวยงาม และจีนจะเป็นประเทศที่มีทรงอิทธิพลของโลก ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าในระดับสูง

บทสรุป
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลจีนได้วางแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี ๒๐๑๗ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๓) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสาคัญในการพัฒนาให้ประชาชนในสังคมจีนมีความกินดีอยู่ดีโดยถ้วนหน้าที่เรียกว่า “เสี่ยวคัง (Xiao Kang)” ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ทั้งนี้ ได้เน้นการผลักดันการปฏิรูปด้านอุปทาน (supply side reform) โดยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 เพื่อผลิตสินค้าจีนที่มีคุณภาพและสร้างแบรนด์จีนให้เป็นที่ยอมรับของโลก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในยุคใหม่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก Big Data และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง AI ของโลกภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำโดยเร่งพัฒนาให้แต่ละภูมิภาคของจีนมีความสมดุล สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นเมืองให้ชนบท (Urbanization) โดยเร่งฟื้นฟูชนบทเพื่อแก้ไขปัญหา “สามเกษตร” ได้แก่ การเกษตร ชนบท และเกษตรกร เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นในการเปิดประเทศและมีบทบาทในเวทีโลก โดยใช้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”(Belt and Road Initiative) หรือ BRI เป็นกรอบแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลในบทความนี้รวบรวมและเรียบเรียงจากเอกสารต่างๆ (เรียงตามอักษร) ได้แก่
๑. ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พลตรี ดร. (๒๕๖๑). ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.
๒. ปณต แสงเทียน, พลโท. (๒๕๕๘). “ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน: ความเกี่ยวข้องต่ออาเซียนและ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ใน วารสารรัฏฐาภิรักษ์ ปีที่ ๕๗ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๘, หน้า ๔๙ – ๖๑.
๓. มติชน, สำนักพิมพ์. (๒๕๕๙). สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด.
๔. อาร์ม ตั้งนิรันดร. (๒๕๖๑). China 5.0 : สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape.๕. อักษรศรี พานิชสาส์น, รองศาสตราจารย์ ดร.(๒๕๖๒).การเติบใหญ่ของจีน Rise of China : จะกลายเป็น “กับดักธูสิดิดิส” หรือไม่.เอกสารคำสอนวิชา ศ.๓๖๑ เศรษฐกิจประเทศเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.