bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๕ ก.ย.๖๑ : การประชุมพิจารณาแนวทางการใช้งานคลังข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน

การประชุมพิจารณาแนวทางการใช้งานคลังข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน โดยการประยุกต์ใช้ Big Data ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรมการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในที่ประชุมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย.๖๑ ซึ่งจัดขึ้นที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ของจีน โดยมีผู้แทนทั้งจากจีนและต่างชาติกว่า ๔๐๐ คนเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ประกาศเริ่มใช้งานคลังข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จีนและอาเซียนจะดำเนินความร่วมมือโดยการประยุกต์ใช้ Big Data ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรมการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

๒. สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ "Big Data ขับเคลื่อนการสร้างผลงานนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม" ซึ่งผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศตนเอง ความเข้าใจที่มีต่อการใช้ Big Data ในการผลักดันผลงานนวัตกรรมเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อเสนอความร่วมมือด้านการใช้ Big Data ร่วมกันด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค

๓. ข้อสังเกต เกี่ยวกับการดำเนินการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยก่อนหน้านี้ กรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๕ มิ.ย.๖๐ ว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จะดำเนินความร่วมมือหลายด้านกับประเทศอาเซียน ส่งเสริมวิสาหกิจที่ดำเนินการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกไปพัฒนานอกประเทศ และผลักดันการถ่ายโอนเทคโนโลยีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ประเทศอาเซียน ซึ่งตั้งแต่ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) เป็นต้นมา การประชุมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน ที่ได้จัดขึ้นต่อเนื่องกัน ๖ ครั้งที่นครหนานหนิง ได้เป็นเวทีให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ดำเนินความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายๆ โครงการ และแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้านความร่วมมือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

บทสรุป

จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ที่มีการเชื่อมต่อกับอาเซียนได้ทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ ในระยะทางที่ใกล้ทำให้มีความได้เปรียบในด้านการคมนาคม จึงทำให้ปัจจุบัน นครหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้กลายเป็นชุมทางม้าเหล็กและฐานการผลิตของจีน ที่นำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์กับประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะด้วยการก่อตั้งศูนย์กลางกระจายข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการได้รับอนุมัติให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ โดยมุ่งหวังในการผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน และเพิ่มบทบาทในฐานะ "ประตูสู่อาเซียน" ของจีน โดยเฉพาะการที่นครหนานหนิงได้เริ่มจัดงานมหกรรมจีน-อาเซียน มาตั้งแต่ปี ๒๐๐๔ (พ.ศ.๒๕๔๗) และได้ใช้เวทีดังกล่าวนี้ดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ด้านการค้า การติดต่อ การแลกเปลี่ยน และการอภิปราย ตลอดจนการเจรจาระหว่างนักธุรกิจจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงระหว่างผู้นำรัฐบาลอีกด้วย

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.caeisp.org/china-asean-environmental-cooperation-forum-2018

http://thai.cri.cn/247/2018/09/12/62s271086.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/06/06/62s254583.htm

https://www.chinadailyhk.com/articles/202/194/109/1536741156939.html?newsId=47966

 http://m.silkroad.news.cn/article/65002