bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๖ ต.ค.๖๔ การให้ความสำคัญของจีนในการพัฒนาการเกษตรเพื่อฟื้นฟูชนบท และการสร้างตราสินค้าการเกษตรของจีน

จีนศึกษา (วันเสาร์ที่ ๑๖ ต.ค.๖๔) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของจีนในการพัฒนาการเกษตรเพื่อฟื้นฟูชนบท และการสร้างตราสินค้าการเกษตรของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สืบเนื่องจากการที่เกษตรกรรมเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีการกล่าวถึงในการประชุม "แผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔" เมื่อปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ว่า ประเทศจีนจะผลักดันยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทอย่างครอบคลุมและกระตุ้นศักยภาพการเติบโตของตลาดในชนบทต่อไป ทั้งนี้ ในการประชุมงานชนบทกลางได้เสนอให้ขยายอุปสงค์ภายในประเทศ "ยังมีพื้นที่กว้างขวางในชนบทที่สามารถทำได้หลายอย่าง" (“农村有巨大空间,可以大有作为”) ซึ่งนโยบายกระทรวงหลักของประเทศจีนทั้งหมดล้วนมีแนวโน้มมุ่งไปสู่พื้นที่ชนบท

๒. ในปี ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๔) เอกสารกลางฉบับที่ ๑ เรื่อง "ความคิดเห็นของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทอย่างครอบคลุมและการเร่งปรับปรุงการเกษตรและชนบทให้ทันสมัย" (“中共中央国务院关于全面推进乡村振兴加快农业农村现代化的意见”) ที่ได้มีการเผยแพร่ โดยเป็นเอกสารกลางฉบับที่ ๑ จากจำนวน ๑๘ ฉบับ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของ "เกษตร ชนบท และชาวนา" (“三农”) ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒๑ เอกสารระบุว่าการฟื้นฟูประเทศชาติ หมู่บ้านจะต้องได้รับการฟื้นฟู "การเกษตรเป็นธุรกิจเก่า แต่ชะตากรรมยังใหม่" (“农虽旧业,其命唯新。”) ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาการเกษตรเป็นแนวทางที่สำคัญและตรงที่สุดสำหรับการฟื้นฟูชนบท รวมทั้งการพัฒนาการเกษตรคุณภาพสูงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางสังคมและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยที่การสร้างตราสินค้าการเกษตรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานทางการเกษตรและเป็นยุทธศาสตร์ของการฟื้นฟูชนบทในยุคใหม่

๓. อาจารย์หลัว เสี้ยงเผิง (娄向鹏老师) หัวหน้าหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านตราสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ และเป็นผู้นำกลุ่มวิจัยด้านตราสินค้าการเกษตรของมหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน เป็นผู้บุกเบิกการสร้างตราสินค้าการเกษตรของจีนโดยใช้ "ระบบขับเคลื่อนสองล้อของรัฐบาลและองค์กร กับวิธีการเชื่อมโยงสามขั้วของมณฑล เมือง และเขต" (“政府、企业双轮驱动,省、市、县’三极联动’ ” ) และ "รากฐานเชิงยุทธศาสตร์ในการค้นหาตราสินค้า" (“战略寻根、品牌找魂”) ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการในทางการเกษตรจำนวนมากและรัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างตราสินค้าการเกษตร จากการสร้างทัศนคติว่า การแบ่งปันความรู้จะทำให้เติบโตไปด้วยกัน โดยการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ และชนชั้นสูงทางปัญญาให้มีส่วนร่วมส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

บทสรุป

การพัฒนาการเกษตรเป็นแนวทางที่สำคัญและตรงที่สุดสำหรับการฟื้นฟูชนบท โดยที่การสร้างตราสินค้าการเกษตรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานทางการเกษตรและเป็นยุทธศาสตร์ของการฟื้นฟูชนบทในยุคใหม่

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

https://t.qianzhan.com/caijing/detail/211011-00ea32c6.html