ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญในการพัฒนา ที่ทำให้เมืองเซินเจิ้นของจีนมี GDP เพิ่มขึ้น ๑๒,๐๐๐ เท่า ในรอบ ๔๐ ปี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สืบเนื่องจากอัตราการเติบโตของ GDP ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (深圳特区) ที่พุ่งสูงขึ้น จาก ๑๙๖ ล้านหยวน ในปี ค.ศ.๑๙๗๙ (พ.ศ.๒๕๒๒) เป็น ๒.๖๙ ล้านล้านหยวน ในปี ค.ศ.๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) โดย GDP เพิ่มขึ้น ๑๒,๐๐๐ เท่า ทำให้ GDP ของเซินเจิ้นได้แซงสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ ๒๑ ของโลก ทั้งนี้ จากการคำนวณ GDP ต่อหัวของประชากรเซินเจิ้น ได้เพิ่มขึ้นจาก ๖๐๖ หยวนในปี ค.ศ.๑๙๗๙ (พ.ศ.๒๕๒๒) เป็น ๒๐๓,๔๘๙ หยวนในปี ค.ศ.๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) นอกจากนี้ พบว่า GDP ของเซินเจิ้น เพื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ ๒๖,๙๒๗.๐๙ พันล้านหยวน โดยเป็นรองแค่มหานครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง แต่การที่เซินเจิ้นมีพื้นที่เมือง ๑,๙๙๗ ตร.กม.ทำให้มี GDP ต่อพื้นที่ เฉลี่ย ๑.๓๔๘ พันล้านหยวน กลายเป็นอันดับที่ ๑ ของประเทศ โดยสูงกว่ามหานครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นอันดับ ๒ ในแง่ของ GDP ต่อพื้นที่ ที่มี GDP ๖๐๒ ล้านหยวน ถึง ๒ เท่า รวมทั้งสูงเป็น ๔ เท่าของนครกว่างโจวและสูงเป็น ๖ เท่าของกรุงปักกิ่ง
๒. ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้น จากผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยโตเกียวในญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน เซินเจิ้นได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่พัฒนาแล้วในแถวหน้าของเอเชีย อีกทั้งได้กลายเป็นเมืองชั้นนำระดับนานาชาติที่สำคัญและกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากทำงานหนักมา ๔๐ ปี เซินเจิ้นเป็นเมืองที่น่าตื่นตาและดึงดูดความสนใจของโลกมากที่สุด ทั้งนี้ ความสำเร็จของเซินเจิ้นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการผสมผสานของปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ
๒.๑ การเปิดกว้าง (开放的基因) นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น การเปิดกว้างถูกกำหนดให้กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งการที่เซินเจิ้นอยู่ติดกับฮ่องกงซึ่งมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกและต้องเปิดกว้างการพัฒนา ทำให้เซินเจิ้นในช่วงสองทศวรรษแรกได้รับประโยชน์อย่างมากจากการถ่ายโอนอุตสาหกรรมจากฮ่องกงและประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงอื่น ๆ ในเอเชีย อันส่งผลดีต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตพิเศษเซินเจิ้นในลักษณะ “สามมาหนึ่งเสริม” (“三来一补”) โดยสถิติในช่วง ๒๐ ปีแรกของการปฏิรูปและการเปิดกว้าง ได้อาศัยรูปแบบอุตสาหกรรมนี้ ทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ประจำปีของเซินเจิ้นเฉลี่ยสูงถึง ๓๕% และรูปแบบของการเปิดสู่โลกภายนอกนี้ เซินเจิ้นได้ทำความเข้าใจข้อกำหนดและการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกมากขึ้น รวมทั้งค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกขั้นสูง จากนั้นจึงเกิดความคิดริเริ่มและได้ผลักดันให้มีความมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกับภายนอก
๒.๒ กระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องจาก “สามมาหนึ่งเสริม” (“三来一补”) สู่สวนอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันและการพัฒนาอย่างชาญฉลาดของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีการวางแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การชีววิทยาพลังงานยุคใหม่และอุตสาหกรรมเกิดใหม่อื่น ๆ โดยในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) รัฐบาลระดับท้องถิ่นเมืองเซินเจิ้นได้ออก "เอกสาร ๑ + ๖" (“1+6文件”) ในรูปแบบ "เอกสารหมายเลข ๑" (“1号文件”) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับอุตสาหกรรมจากการผลิตทั่วไป ไปสู่การผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมรองของเซินเจิ้นที่ได้เร่งตัวขึ้นและภาระภาษีค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก ๐.๑๗ ในปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ลดลงเหลือ ๐.๑๔ ในปี ๒๐๑๙ หรือ พ.ศ.๒๕๖๒ ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี ๒๐๑๙ มีสวนอุตสาหกรรมมากกว่า ๗,๐๐๐ แห่งในเซินเจิ้น โดย ๗๕% ของวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่กำหนด และ ๘๐% ของมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมที่สูงกว่าขนาดที่กำหนดนั้นมาจากสวนอุตสาหกรรม ซึ่งเกินระดับของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในโลก
๒.๓ กล้าที่จะทำเป็นครั้งแรก (敢为天下先) เช่น การริเริ่มแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์เป็นครั้งแรก และการริเริ่มปฏิรูประบบการค้าธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเป็นแห่งแรก เป็นต้น
๒.๔ การตลาด (市场化) โดยการทำให้ตลาดไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานสำคัญสำหรับการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในปรับปรุงประสิทธิภาพของการแข่งขันในตลาด (市场化不仅是企业公平竞争的根本基础,同时也是提升市场竞争效率的重要条件。) ทั้งนี้ เนื่องจากองค์กรเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของเซินเจิ้น และนวัตกรรมเป็นแหล่งสำคัญในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของเซินเจิ้น
๒.๕ สภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับธุรกิจและผู้ประกอบการ (宜居、宜商、宜创业的环境) ทำให้เป็นเงื่อนไขพื้นฐานต่อกระบวนการพัฒนาเซินเจิ้น โดยการรวบรวมผู้มีความสามารถจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสถาบันวิจัยภายหลังปริญญาเอกมากกว่า ๑๕ แห่ง ในขณะที่มีสวนสาธารณะถึง ๙๒๑ แห่ง โดยมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น ๑๖.๔๕ ตารางเมตรต่อหัว มีการสร้างเมืองในระบบนิเวศที่มีคาร์บอนต่ำ การบังคับแยกประเภทขยะเป็น "เมืองปลอดขยะ" (“无废城市”) ที่มีมาตรฐานสูง โดยมีอัตราการรีไซเคิลขยะมากกว่า ๓๐% นอกจากนี้ ยังมีการเดินทางที่สะดวกโดยมีรถไฟใต้ดิน ๘ สาย เป็นต้น
๒.๖ การมุ่งเน้นให้บริการของภาครัฐ (服务型政府) ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้นเป็นผู้ช่วยเหลือองค์กรต่างๆ และไม่แทรกแซงการพัฒนาตลอดจนการดำเนินงานของวิสาหกิจ ซึ่งงานของรัฐบาลท้องถิ่นจะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยในปีนี้ ได้พัฒนาเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วเมืองได้ภายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
๒.๗ การออกแบบที่เป็นเลิศ (卓越的顶层设计) จากการที่นายเติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางรากฐานและได้มาตรวจสอบด้วยตนเอง เช่น ในปี ๑๙๙๒ (พ.ศ.๒๕๓๕) ได้เน้นย้ำต่อผู้บริหารว่า “พวกคุณต้องทำให้เร็วกว่านี้” (“你们要搞快一点。”)
บทสรุป
เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีน ได้ออกแผนการสร้างเขตสาธิตนำร่องสำหรับสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะจีนของเซินเจิ้น หรือ 深圳建设中国特色社会主义先行示范区综合改革试点实施方案(2020-2025年) กำหนดให้เซินเจิ้นเป็นเมืองมาตรฐานระดับโลกใน ๕ ด้าน ภายในกลางศตวรรษนี้ ได้แก่ นวัตกรรมและการพัฒนา (创新发展) เมืองอารยธรรม (城市文明) รัฐบาลใช้หลักนิติธรรม (法治政府) ความสุขในการดำรงชีวิตของประชาชน (民生幸福) และมีระบบนิเวศวิทยา (生态环境) ทั้งนี้ ใน "รายงานการพัฒนาคุณภาพเมืองระดับสูงของจีนในปี ๒๐๒๐" (“2020年中国城市高质量发展报告”) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค.๖๓ รายงานว่า เมืองเซินเจิ้นได้รับคะแนนรวมด้านการพัฒนาคุณภาพสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน ตามด้วยกรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.ceweekly.cn/2020/1013/316158.shtml
http://www.gov.cn/zhengce/2020-10/11/content_5550408.htm