ท่าทีของนายกรัฐมนตรีจีน ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (๑๐+๑) ครั้งที่ ๒๑ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการประชุม RCEP ครั้งที่ ๒ และการประชุมผู้นำอาเซียน+๓ ครั้งที่ ๒๑ ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ ๑๔ -๑๕ พ.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (๑๐+๑) หรือ ASEAN-China Summit ครั้งที่ ๒๑ และในโอกาสที่ฉลองครบรอบ ๑๕ ปี แห่งการสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวว่า
๑.๑ ในรอบ ๑๕ ปีที่ผ่านมา จีนกับอาเซียนได้ดำเนินความร่วมมือกันทั่วด้าน และมีความหลากระดับอย่างกว้างขวาง พร้อมยังได้สร้างสภาพการณ์ใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่กัน และได้ชัยชนะร่วมกัน โดยได้ร่วมมือกันสร้างและยกระดับเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา และยกระดับการค้าการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้สร้างแบบฉบับในการแก้ไขข้อขัดแย้ง โดยได้ปฏิบัติตามแถลงการณ์ DOC อย่างมีประสิทธิผล และรักษาความมั่นคงด้านสถานการณ์ของทะเลจีนใต้ การเจรจาเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ COC มีความก้าวหน้าสำคัญ โดยฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องกันที่จะเสร็จสิ้นการเจรจารอบแรกในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)
๑.๒ นายหลี่ เค่อเฉียง เน้นว่า จีนกับอาเซียนเมีความเคารพกัน มุ่งแก้ไขข้อขัดแย้งและแสวงหาความเห็นชอบร่วมกัน ยืนหยัดความร่วมมืออย่างเปิดเผย พัฒนาร่วมกัน ทำความเข้าใจกัน และเลียนแบบประสบการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งมาโดยตลอด จีนสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และฐานะศูนย์กลางของอาเซียนในระหว่างความร่วมมือของภูมิภาคอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จีนกับอาเซียนควรพัฒนาความร่วมมือในทุกด้าน ร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนที่มีระดับสูงขึ้น พร้อมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของจีนกับอาเซียนที่ใกล้ชิดมากขึ้น ตามแนวทางปฏิบัติ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) เพิ่มการวางแผนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ ๒) พัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ๓) สร้างจุดเด่นด้านนวัตกรรม ๔) ส่งเสริมการติดต่อด้านวัฒนธรรม และ ๕) ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง
๒. ในการประชุมผู้นำว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ครั้งที่ ๒ โดยมีผู้นำ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้นำอีก ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย.๖๑ ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆ มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศว่า
๒.๑ ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับลัทธิกีดกันทางการค้าและแนวโน้มที่สวนทางกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทั่วโลกควรใช้ความพยายามมากขึ้น ร่วมกันส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ ผลักดันการสร้างระเบียบโลกและการค้าเสรี ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญมากต่อการเพิ่มความมั่นใจและการคาดการณ์ในทางบวกของประเทศต่างๆ ในการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนลัทธิพหุภาคีและการค้าเสรีบนพื้นฐานแห่งการเคารพกติกา เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก
๒.๒ ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้เห็นพ้องกันว่า การเจรจา RCEP ได้ผลคืบหน้าอย่างแท้จริง และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย ทุกฝ่ายมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อความตกลงดังกล่าว ฝ่ายต่างๆ ควรเข้าใจกันและคำนึงถึงความต้องการของกันและกัน พยายามทำให้ RCEP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมทุกด้าน มีความสมดุล มีคุณภาพสูงและมีระดับสูง ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน ที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามดำเนินการเจรจา RCEP ให้เสร็จสิ้นก่อนปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)
๓. ข้อเสนอ และท่าทีของนายกรัฐมนตรีจีนในการประชุมผู้นำอาเซียน+๓ (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ ๒๑ หรือ ASEAN Plus Three Summit เมื่อวันที่ ๑๕ พ.ย.๖๑
๓.๑ ข้อเสนอแนวทางความร่วมมือ ๑๐+๓ ของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ประกอบด้วย ๑) ผลักดันการสร้างสรรค์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ๒) คุมเข้มความปลอดภัยทางการเงิน ๓) บุกเบิกพัฒนาความร่วมมือที่มีความสร้างสรรค์ ๔) พัฒนาให้เชื่อมโยงกัน และ ๕) สานสันพันธ์ทางวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
๓.๒ สำหรับท่าทีของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ต่อแนวทางความร่วมมือ ๑๐+๓ โดยได้กล่าวเน้นว่า จีนยินดีร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ จับกุมโอกาส ผสมผสานความเข้าใจกัน กระชับการประสานงาน ดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผลักดันให้ประชาคมเศรษฐกิจแห่งเอเชียนตะวันออกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตอันดีงามของภูมิภาคนี้
บทสรุป
ข้อเสนอและท่าทีของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน มีความสอดคล้องกับท่าทีของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมประชุม ซึ่งต่างเห็นว่า อาเซียนกับจีนมีความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กัน มีการไปมาหาสู่กันบ่อยครั้งในระดับสูง มีการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และมีการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาเซียนมีความยินดีที่จะเชื่อมยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนกับความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI หรือ One Belt, One Road : OBOR) ของจีน เพื่อขยายแวดวงความร่วมมือใหม่ๆ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก และการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.shine.cn/news/nation/1811155156/
http://thai.cri.cn/20181114/e0dc5808-a216-8eaa-1c1e-ca87c9052519.html
http://thai.cri.cn/20181114/238a7410-c988-f18a-88fa-7b34584a5c74.html
http://thai.cri.cn/20181115/4d2694c3-1973-30e8-722e-467b380c7623.html
http://www.globaltimes.cn/content/1127507.shtml