bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๘ ม.ค.๖๓ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๘ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. ในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ ม.ค.๖๓ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้เดินทางเยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายอู วินมยิน ประธานาธิบดีเมียนมา ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ของผู้นำจีน อีกทั้งตรงกับวาระครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและเมียนมาด้วย

๒. การเตรียมการเพื่อต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
     ๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค.๖๓ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางจีน (ไชน่ามีเดียกรุ๊ป) ได้จัดการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชนต่อความร่วมมือ”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”จีน-เมียนมา ที่เมืองย่างกุ้ง โดยมีบุคคลวงการสื่อมวลชนจีน-เมียนมากว่า ๗๐ คนเข้าร่วม และได้อภิปรายถึงกระบวนการเยือนเมียนมาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รวมถึงบทบาทในการผลักดันความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ระหว่างกัน พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-เมียนมาของสื่อมวลชน ทั้งนี้ ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมเห็นว่า การเชื่อมโยงประชาชนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศ และการร่วมกันสร้างสรรค์”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นเสียงเชิงบวก ในการรักษาจุดมุ่งหมายและจุดยืนที่มีความเป็นกลาง เพิ่มพูนความเข้าใจของประชาชนสองประเทศ แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง และให้แนวคิดการมีอนาคตร่วมกันของจีน-เมียนมาหยั่งรากในใจประชาชน เพื่อสร้างความผาสุกแก่ประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองประเทศ
     ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค.๖๓ หนังสือพิมพ์เมียนมาร์อาลินเดลี่ (Myanmar Alin Daily) หนังสือพิมพ์เจมอน (Kyemon) และหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ (Global New Light of Myanmar) ต่างเผยแพร่บทความของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งได้หยิบยกสุภาษิตจีนและเมียนมา มากล่าวถึงว่า “ญาติจะใกล้ชิดยิ่งขึ้นเมื่อไปมาหาสู่กัน และเพื่อนจะสนิทยิ่งขึ้นเมื่อติดต่อพบหากัน” แสดงความปรารถนาของจีนที่จะร่วมมือกับมิตรชาวเมียนมา ส่งเสริมให้การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันมีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยในบทความดังกล่าวมีหัวข้อว่า “เขียนบันทึกบทใหม่แห่งมิตรภาพฉันพี่น้องสหัสวรรษ” ได้กล่าวว่า ๗๐ ปีนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต จีนและเมียนมาสนับสนุนและปฏิบัติตามหลักการ ๕ ประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เชื่อใจกันโดยตลอด เคารพซึ่งกันและกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นแบบฉบับของประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่มีความเสมอภาค มีผลประโยชน์ซึ่งกันและกันและมีการพัฒนาร่วมกัน นำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายควรใช้โอกาสครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เสริมสร้างการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพิ่มการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปรับปรุงการประสานงานในกิจการระดับภูมิภาคและระดับโลก ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์จีน-เมียนมาก้าวสู่ยุคใหม่

๓. ผลจากการเดินทางเยือนเมียนมาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโครงการเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) ในการสร้างเส้นทางให้เชื่อมจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ตามแนวคิดเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ ๒๑ ที่จะขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและอิทธิพลของจีนไปทั่วโลก ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย
     ๓.๑ โครงการท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งรัฐยะไข่มูลค่า ๑.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นหัวใจหลักของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยท่าเรือ "เจ้าผิว" (Kyaukphyu) จะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน ซึ่งเมียนมาได้เจรจาลดทุนสร้างลงมาจาก ๗.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สำเร็จ เพื่อหลีกเลี่ยงติด "กับดักหนี้" กับจีน แต่อย่างไรก็ดี เมียนมาก็ต้องลงเงินร้อยละ ๓๐ ในโครงการ ทั้งนี้ ในการสร้างท่าเรือจะมีการเปลี่ยนไร่นาและป่าสักโดยรอบให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าและอาหารแปรรูป
     ๓.๒ โครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเส้นทางส่วนแรกของโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า ๘.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อที่จะเชื่อมจากมณฑลยูนนานของจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเล ไปสู่ชายฝั่งทางฝั่งตะวันตกของเมียนมา
     ๓.๓ โครงการเปลี่ยนพื้นที่พรมแดนรัฐฉานให้กลายเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ๓ แห่ง เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับผู้ค้าทั้งสองประเทศ
     ๓.๔ โครงการสร้างเมืองขึ้นใหม่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำในเมืองย่างกุ้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าเมืองใหม่นี้จะแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ประชากรแออัด และการขาดไฟฟ้าและน้ำได้
     ๓.๕ โครงการเขื่อนมิตโสน มูลค่า ๓.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า ๖,๐๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดในการมาเยือนของจีนในครั้งนี้ แม้ว่าจะเคยถูกสาธารณชนเมียนมาประท้วง

บทสรุป
 
การเดินทางเยือนเมียนมาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเป็นการเปิดหน้าใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมา และจะนำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนถือเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งครั้งหนึ่ง ในการส่งเสริมการพัฒนาที่มั่นคงของความร่วมมือเมียนมา–จีน รวมถึงความร่วมมือตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน และจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า การส่งออกของเมียนมาไปจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีมูลค่า ๕,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เมียนมานำเข้าจากจีนมีมูลค่าสูงถึง ๖,๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองในเมียนมารองจากสิงคโปร์

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์