bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๘ เม.ย.๖๓ ข้อคิดที่นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเน้นในช่วงท้ายของการแถลงต่อที่ประชุมอาเซียนบวกสาม (APT) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย.๖๓

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๘ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดที่นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเน้นในช่วงท้ายของการแถลงต่อที่ประชุมอาเซียนบวกสาม (APT) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย.๖๓ ความว่า ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก และเป็นที่ตั้งของประชากรกว่าหนึ่งในสี่ของโลก และส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การสร้างความมั่นคงด้านอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) เพื่อป้องกันวิกฤตด้านอาหาร ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. APTERR เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ๑๓ ประเทศ ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อสำรองข้าวสำหรับบริโภคในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินทางธรรมชาติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ ๗ ต.ค.๕๔ โดยประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) ขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงานในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ความตกลง APTERR เป็นเอกสารความตกลงที่มีผลตามกฎหมาย (Legally Binding Document) และสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO และข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง

๒. ในการประชุมคณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ ก.พ.๖๓ ณ เมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผู้แทนคณะฯ ของไทย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอให้ APTERR พิจารณาเพิ่มปริมาณข้าวสำรองในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในรูปสัญญา (Earmarked Stock) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในคน พืช และสัตว์ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น การติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Army worm) ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locust) และการระบาดของโรคอหิวาต์อัฟริกาในสุกร (African Swine Fever) รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น  

๓. ข้อสังเกตจากกรณีศึกษาการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน
    ๓.๑ การที่ธัญญาหารในคลังของจีนมีปริมาณเพียงพอ จึงทำให้ราคาธัญญาหารในตลาดจีนมีเสถียรภาพ ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กล่าวเน้นว่า “ชามข้าวของคนจีนจะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญ ให้มีความปลอดภัยและสามารถป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ” ซึ่งข้อมูลของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน พบว่า เมื่อปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) มีปริมาณการผลิตธัญญาหารของจีนสูงถึง ๖๖๔ ล้านตัน และถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ จีนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสมบูรณ์ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว จึงทำให้ปริมาณสะสมธัญญาหารในคลังของจีนมีเพียงพอ
     ๓.๒ จีนได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางธัญญาหาร ตามแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทของจีน (ปี ๒๐๑๘ – ๒๐๒๒ หรือ พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕) โดยภายในปี พ.ศ.๒๕๖๕ จีนจะมีความพร้อมในระบบข้อมูลเพื่อสร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูก การปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศและการควบคุมการเกษตรแบบแม่นยำ โดยเฉพาะการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีระบบการบริหารจัดการที่พร้อม และเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่
     ๓.๓ แนวทางการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
            ๓.๓.๑ กำหนดพื้นที่ ๒ เขต คือ เขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช (เป็นพื้นที่ ๓๗๕ ล้านไร่) และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ (ถั่วเหลือง ฝ้าย เมล็ด rapeseed อ้อย และยางพารา เป็นพื้นที่ ๙๙.๑๗ ล้านไร่) โดยจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตรถาวรระยะยาวสำหรับการเพาะปลูกพืชที่กำหนด และไม่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรด้านอื่นได้ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะส่งเสริมให้เป็นการทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง สร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคด้านน้ำที่ใช้ในการเกษตรและการทำระบบให้เข้าสู่แปลงโดยชลประทานประหยัดน้ำ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและให้ผลผลิตสูง ยกระดับให้เป็นการทำการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต และ cloud รวมถึงระบบข้อมูล big data เข้ามาร่วมด้วย
            ๓.๓.๒ สร้างการรับรู้ด้านนโยบายเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม โดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้หลักประกันในการใช้พื้นที่ในการพัฒนาการเกษตรเพื่อสร้างเขตพื้นที่ผลิตข้าวและธัญพืช และพืชเกษตรที่สำคัญในระยะยาว เช่น การสนับสนุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อใช้ในการเกษตรจนถึงระดับแปลง การหาแหล่งเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ และการประกันความเสียหายในการเพาะปลูก เป็นต้น
             ๓.๓.๓ ให้รัฐบาลระดับมณฑลทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการเลือกพื้นที่ ๒ เขต ที่นำเสนอจากเมืองและอำเภอต่าง ๆ ในมณฑล แล้วจึงส่งข้อมูลให้กับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสำเนาให้กับกระทรวงการคลัง กระทรวงที่พักอาศัยและการพัฒนาเขตเมือง-ชนบท และกระทรวงทรัพยากรน้ำ โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจะเป็นเป็นผู้ชี้แนะการสร้างแผนที่อิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูล เพื่อให้สามารถรวมเป็นภาพใหญ่ของทั้งประเทศ และรายงานผลการดำเนินงานการจัดสร้างเขตพื้นที่ให้กับคณะรัฐมนตรีจีนทราบ

บทสรุป

นายกรัฐมนตรีจีนเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยเสนอให้ใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญต่อการสำรองข้าวสำหรับบริโภคในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินทางธรรมชาติ  

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://www.chinaembassy.or.th/chn/zgyw/t1769818.htm 

http://www.chinaembassy.or.th/eng/zgyw/t1769720.htm 

https://www.apterr.org/

http://www.oae.go.th/view/1/B8%81./33532/TH-TH

https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-news-files-411891791063

https://www.apterr.org/what-is-apterr

https://www.naewna.com/local/368794

http://www.scio.gov.cn/m/zfbps/32832/Document/1666228/1666228.htm