ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการค้าจีน –อาเซียน ได้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด จากในปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) ที่มียอดการค้าคิดเป็น ๑๙๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มียอดการค้าเป็น ๕๑๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มมากขึ้นเกือบ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
๒. ปัจจัยที่ทำให้การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
๒.๑ เศรษฐกิจจีนและอาเซียนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย GDP ของจีนครองสัดส่วน GDP โลกจาก ๔% ในปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) มาเป็น ๑๕ % ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) และเป็น ๒๑% ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะ GDP ของอาเซียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากปี ๒๐๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๓) ที่มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน – อาเซียน ทำให้กำแพงการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนลดลง ดังจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) เป็นต้นมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น ๕% จนถึงปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) GDP ของทุกประเทศอาเซียนรวมเป็น ๒.๘ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
๒.๒ ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ตลาดการอุปโภคบริโภคของจีนและอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความต้องการต่อสินค้านำเข้าและการบริการชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนเพิ่มขึ้นจาก ๒,๖๕๐ เหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๐๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) มาเป็น ๘,๖๗๐ เหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ซึ่งเป็นการผลักดันให้จีนเข้าบัญชีรายชื่อประเทศที่ประชากรมีรายได้ระดับปานกลาง ขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นที่มีรายได้ระดับปานกลางก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อคน ในเมืองใหญ่ของจีนอาจจะสูงกว่าเมืองอื่นๆ อย่างเช่น ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) GDP เฉลี่ยต่อคนของกรุงปักกิ่งมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น
๒.๓ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่นับวันจะสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยประเทศในอาเซียนได้ส่งออกสินค้าและบริการจำนวนมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์การเกษตร พลังงานและการท่องเที่ยว (ซึ่งตามสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ ๕๙๐,๐๐๐) เป็นต้น ในขณะที่อาเซียนก็เป็นตลาดบริโภคที่มีประชากรรวมประมาณ ๖๕๘ ล้านคน ทำให้อาเซียนก็เป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีน โดยปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ยอดการส่งออกของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนคิดเป็น ๒๗๙,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๙% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นสัดส่วน ๑๒.๓% ของยอดการส่งออกในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ของจีน
๒.๔ จีนยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างปี ๒๐๑๓ – ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๙) การลงทุนโดยตรงของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบัน รายได้ของแรงงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองริมฝั่งทะเลของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีนักธุรกิจจีนจำนวนหนึ่งได้หันไปลงทุนสร้างโรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งกำลังแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ อย่างเช่นเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น
๒.๕ ในระยะปีหลังๆ มานี้ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน และได้นำมาซึ่งเงินทุนมหาศาลมาให้กับโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ ประเทศในอาเซียนก็เป็นหนึ่งของส่วนประกอบที่สำคัญ ภายใต้สภาพที่การค้าทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่อทางหลวง ทางรถไฟและท่าเรือระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และผลักดันการเติบโตทางการค้าให้ก้าวหน้าต่อไป โดยเฉพาะแผนการก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียที่เริ่มตั้งแต่เมืองคุนหมิงทางภาคใต้ของจีน ผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชาและมาเลเซีย สิ้นสุดที่สิงคโปร์
บทสรุป
ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ ๒ ที่กรุปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๒๗ เม.ย.๖๒ ผู้นำ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้เข้าร่วมการประชุม โดยได้แสดงท่าทีให้การสนับสนุนและร่วมมือกับจีนในโครงการข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ “IHS Markit” ซึ่งเป็นบริษัทผู้เสนอบริการด้านข้อมูลการพาณิชย์รอบโลกที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ได้ประกาศรายงานการคาดการณ์ว่า จนถึงปี ๒๐๒๘ (พ.ศ.๒๕๗๑) จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ ๑ ของโลก ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มว่า ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนจะมีถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ และเมื่อถึงปี ๒๐๓๘ (พ.ศ.๒๕๗๑) จะโตขึ้นเป็น ๒๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตลาดบริโภคของจีนกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าและการบริการของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็จะกลายเป็นหนึ่งในตลาดบริโภคที่สำคัญของโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://news.cgtn.com/news/2019-07-31/China-ASEAN-economic-trade-cooperation-has-accelerated-IMAwkPSafS/index.html
http://thai.cri.cn/20190527/e734598c-8578-f547-5f41-b33f4414c082.html
http://thai.cri.cn/20190428/9103584b-778d-1fb3-c5e0-9c645379ab75.html
http://thai.cri.cn/20190423/db91590b-1b08-fef7-5008-ce4c19972de6.html
http://thai.cri.cn/20190423/2ce7d028-efa0-5ca8-60a1-129fc34cf2b2.html
http://thai.cri.cn/20190423/9623e10b-7515-142b-80e7-8b6f22ffa360.html
http://thai.cri.cn/20190422/1ee92a03-a7a8-e7b2-cb66-96c4fd4ccc7a.html