bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒ พ.ค.๖๓ รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒ พ.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้


๑. เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๖๓ นายเล่อ อี้ว์เฉิง (Le Yucheng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบริษัทวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Broadcasting Corporation: NBC) เป็นการเฉพาะ  โดยระบุว่า  สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในขั้นตอนต่อไป  ทั้งสองฝ่ายควรปฏิบัติตามหลักการ “๓ ควร” กับ “๓ ไม่ควร”กล่าวคือ
     ๑.๑ สำหรับ ๓ ควร ได้แก่ (๑) ควรรักษาการติดต่อระหว่างผู้นำของสองประเทศ รวมทั้งรักษาการเจรจาและการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ  (๒) ควรพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศให้ลงลึก และ (๓) ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดของทั้งสองฝ่าย  
     ๑.๒ ส่วน “๓ ไม่ควร” ได้แก่ (๑) ไม่ควรทำลายชื่อเสียงของจีน หรือดึงการป้องกันและควบคุมโรคระบาดเป็นเรื่องการเมือง (๒) ไม่ควรทำลายหรือก่อกวนความร่วมมือระหว่างสองประเทศ  และ (๓) ไม่ควรก่อให้เกิดการแข่งขันที่เลวร้ายในการป้องกันและควบคุมโรค

๒. ข้อพิจารณาเชิงวิชาการเกี่ยวกับเหตุผล ๓ ประการของจีน ในการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กล่าวคือ
     ๒.๑ สหรัฐฯ เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาและมีศักยภาพในการทำสงครามขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่จีนต้องการรักษาสภาวะแวดล้อมให้มีความสงบเพื่อเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามแผน
     ๒.๒ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะทำให้จีนบรรลุความทันสมัย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดการค้าที่มีความสำคัญรวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
     ๒.๓ สหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับประเด็นปัญหาไต้หวัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

๓. ข้อพิจารณาเชิงวิชาการเกี่ยวกับเหตุผล ๔ ประการ ที่จีนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ นอกเหนือจากการที่จีนเป็นประเทศ ๑ ใน ๕ ของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรของสหประชาชาติ กล่าวคือ
     ๓.๑ จีนเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ รวมทั้งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการจำกัดการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง
     ๓.๒ จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
     ๓.๓ จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาที่รวดเร็วโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลก เช่น ปัญหาด้านมลพิษ เป็นต้น
     ๓.๔ หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ การดำเนินความสัมพันธ์กับจีน จะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย

บทสรุป
 
แนวคิดในเชิงวิชาการเกี่ยวกับรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรปรับทิศทางและรักษาระดับของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของความเคารพในความแตกต่างกัน กล่าวคือ (๑) ควรเน้นรูปแบบการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข เช่น ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ (๒) ควรมีการทบทวนและการหารือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาคมโลก (๓) ควรมีจุดประสานงานที่ชัดเจน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและสนับสนุนต่อความร่วมมือในทุกระดับ โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่ทั้งจีนกับสหรัฐฯ มีปฏิสัมพันธ์กันภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนมีการแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด รวมทั้งควรเร่งส่งเสริมการทูตในระดับประชาชนของทั้งจีนและสหรัฐฯ ด้วยการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์ 
 
 
 
 
 
 
 
รวมถึงข้อมูลของ Zicheng, Y. (2011). Inside China’s grand strategy : The perspective from the People’s Republic. Kentucky : The University Press of Kentucky. และข้อมูลของ Peng, Yuan. (2012). “Some strategic thoughts on new type China – U.S. Ties” in Contemporary international relations. Vol. 22, No.4 (July/August)., 27-47. อีกทั้งข้อมูลของ พลตรี ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล (๒๕๖๑). ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒ : ความเคลื่อนไหวในปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์. )