ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๓๐ ต.ค.๖๒ ในงานสัมมนานานาชาติ “จีน-สหรัฐฯ: ยกระดับความสัมพันธ์ร่วมกันเพื่อพัฒนาเอเชียและโลก” ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดยศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีน สถาบัน Brookings Institution ของสหรัฐ และสถาบันนโยบายสาธารณะลีกวนยูของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในงานนี้ และในพิธีเปิด นายโก๊ะ จ๊กตง รัฐมนตรีอาวุโสเกียรติคุณสิงคโปร์ และประธานสถาบันนโยบายสาธารณะลีกวนยู กล่าวว่า การที่จีน-สหรัฐฯ อยู่ร่วมกันอย่างสันติจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่โลก แต่หากสองฝ่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจะนำมาซึ่งหายนะแก่โลก นอกจากนี้นับวันจะยิ่งมีประเทศ สถาบันและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นที่คัดค้านลัทธิโดดเดี่ยวและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งนี้ นายโก๊ะ จ๊กตง หวังว่า จีน-สหรัฐฯ จะสามารถจัดการข้อพิพาทระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค.๖๒ ผู้ประสานงานฝ่ายจีนและสหรัฐฯ ในการเจรจาระดับสูงว่าด้วยเศรษฐกิจการค้า ได้พูดคุยทางโทรศัพท์และเห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างสนใจอย่างเหมาะสม โดยทีมงานเศรษฐกิจการค้าของสองประเทศรักษาและติดต่อหารือกันอย่างใกล้ชิด และเร่งทำงานตามความตกลงที่บรรลุไว้ในการเจรจารอบที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณในเชิงบวกว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังก้าวสู่เป้าหมายที่จะบรรลุความตกลงเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น อันเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาด กล่าวคือ
๒.๑ การพิจารณาถึงปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างสนใจ บนพื้นฐานความเสมอภาคและเคารพกัน โดยจีนกำลังลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาที่สหรัฐฯ สนใจ เช่น การจัดซื้อผลิตผลการเกษตร และการควบคุมยาเฟนทานิล ส่วนทางจีนมีความสนใจ ๓ ประเด็นคือ
(๑) ยกเลิกมาตรการเพิ่มภาษีทั้งหมด
(๒) สถิติทางการค้าสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง
(๓) เอกสารความตกลงต้องมีความสมดุล
ดังนั้นการที่ผู้ประสานงานทั้งสองประเทศเจรจาทางโทรศัพท์ และเห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายสนใจกันนั้น หมายความว่า สองประเทศจะใช้ความพยายามร่วมกัน เพื่อขจัดอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความเชื่อถือกัน และผลักดันการหารือกัน
๒.๒ การที่ผู้ประสานงานสองประเทศยังยืนยันว่า การหารือเชิงเทคนิคเกี่ยวกับเอกสารบางตอนได้ทำเสร็จเรียบร้อย นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญมากประการหนึ่ง แสดงว่าทั้งสองประเทศกำลังแก้ปัญหาเชิงเทคนิคบางประการ เพื่อก้าวตามเป้าหมายเดียวกันและปูพื้นฐานให้ลงนามเอกสารเฉพาะขั้นต่อไป ทั้งนี้ จากการหารือกว่า ๑ ปีที่ผ่านมา การที่จีนกับสหรัฐฯ กลับสู่หนทางการแก้ปัญหาอีกครั้งนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และขณะนี้ การเจรจาทางเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ขั้นสำคัญ ดังนั้น ทั้งสองประเทศควรใช้โอกาสนี้ พิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้ผลิต ผู้บริโภค ยืนหยัดการรักษาจุดร่วมสงวนจุดต่าง เดินไปในทางทิศเดียวกัน พยายามสร้างบรรยากาศที่ดี กระชับความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง พยายามอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงนามความตกลงฯ
บทสรุป
การที่จีนและสหรัฐฯ ต่างแสดงให้เห็นถึงท่าทีมุ่งมั่นทำงานอย่างจริงจัง ขณะที่การแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง ถือเป็นความพยายามป้องกันไม่ให้สงครามการค้าทวีความรุนแรง ดังนั้น จีนกับสหรัฐฯ หากร่วมมือกันก็จะได้ประโยชน์ แต่หากต่อสู้ย่อมเสียหายทั้งคู่ แม้ว่าจีนจะแสดงท่าทียินดีและใช้ท่าทียับยั้ง โดยมุ่งแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาและความร่วมมือก็ตาม แต่ทว่า จีนคงจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อปัญหาเชิงหลักการที่สำคัญ และไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ซึ่งจีนจะยังคงเดินหน้าการปฏิรูปอย่างลึกซึ้ง ยกระดับการเปิดประเทศ ตลอดจนบรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย โดยที่จีนและสหรัฐฯ ควรร่วมกันพิจารณาทิศทางของการเจรจาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และใช้วิธีที่เป็นรูปธรรมเพื่อแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาในการตอบสนองความคาดหวังของตลาด
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.chinadailyhk.com/articles/173/46/222/1572492219580.html
http://thai.cri.cn/20191031/dce5eb07-9a64-ab97-5043-ebb2143231f7.html
http://thai.cri.cn/20191016/853d1c25-70f2-cb6e-6383-96a841b02eb4.html
http://thai.cri.cn/20191012/643ed132-dc5f-15a2-c283-78e89383b1fa.html
http://thai.cricn/20191027/e047eda9-31eb-841f-1467-962d4edc72c4.html
http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2019-10/31/c_138518944_3.htm