bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๑ ก.ย.๖๒ แนวคิดของจีนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและพัฒนาแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง ( 黄河Huáng hé อาจออกเสียงว่า หวางเหอ หรือ หวงเหอ) เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีน

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อช่วงเช้าวันที่ ๑๘ ก.ย.๖๒ ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนเป็นประธานจัดประชุมสัมมนาว่าด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาด้วยคุณภาพสูงลุ่มแม่น้ำฮวงโห พร้อมกล่าวคำปราศรัยโดยเน้นว่า ต้องยึดแนวคิด “ภูเขียวน้ำใสคือภูเขาเงินภูเขาทอง”

๒. สำหรับแนวคิด “ภูเขียวน้ำใสคือภูเขาเงินภูเขาทอง” นั้น หมายถึง ต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศเป็นอันดับแรก ทำการพัฒนาแบบสีเขียวและวางแผนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการจัดการปัญหาเชิงระบบนิเวศ คุ้มครองความปลอดภัยของแม่น้ำฮวงโหอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาด้วยคุณภาพสูงของแม่น้ำฮวงโหตลอดแนว ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห รวมทั้งทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็นแม่น้ำแห่งความสุขของประชาชน

๓. การคุ้มครองแม่น้ำฮวงโหจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟิ้นฟูที่ยิ่งใหญ่และการพัฒนาที่ยั่งยืนของจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึง ความสำคัญของแม่น้ำฮวงโหต่อความมั่นคงของจีน และการต่อสู้อุทกภัยและความแห้งแล้งของชาวจีนต่อแม่น้ำสายนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมและพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มแม่น้ำฮวงโห มาตั้งแต่เมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนใหม่ ในปี ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) นอกจากนี้ นังชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากและอุปสรรคในการปกป้องแม่น้ำฮวงโห รวมถึงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาที่เปราะบาง การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ยังไม่เพียงพอและคุณภาพน้ำที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง

๔. ข้อสังเกต แม่น้ำฮวงโห หรือ แม่น้ำเหลือง ซึ่งชื่อของแม่น้ำเหลือง มาจากสีของน้ำซึ่งมีสีเหลือง เนื่องจากเต็มไปด้วยทราย แต่แม่น้ำเหลือง ก็ไม่ได้มีสีเหลืองตลอดทั้งสาย โดยต้นน้ำของแม่น้ำเหลืองอยู่บนเทือกเขา Bayan Har ในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกของจีน ใกล้เขตรอยต่อกับธิเบต ไหลผ่าน ๙ มณฑล/เขตปกครองพิเศษ และลงสู่ทะเลป๋อไห่ทางมณฑลซานตงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยที่แม่น้ำเหลืองในช่วงต้นไหลผ่านภูเขา น้ำจึงใสสะอาด แต่เมื่อผ่านเขตที่ราบสูงดินเหลืองซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่คาบเกี่ยวหลายมณฑลทางตอนเหนือ จึงพัดพาเอาดินทรายปริมาณมากลงสู่แม่น้ำจนกลายเป็นสีเหลือง จัดเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณทรายมากเป็นที่สุดของโลก จนมีคำกล่าวว่า ตักน้ำแม่น้ำเหลือง ๑ ถ้วย ได้ทรายมาครึ่งถ้วย ซึ่งนอกจากทรายแล้ว ปัญหาน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำเหลืองยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน จนได้รับฉายาว่า “แม่น้ำวิปโยค” จึงเป็นที่มาของนโยบายบริหารจัดการน้ำตามแนวแม่น้ำเหลือง ซึ่งไหลจากฝั่งตะวันตกมาทางตะวันออก ผ่านมณฑลชิงไห่, เสฉวน, กานซู, หนิงเซี่ย, มองโกเลียใน, ซานซี, เหอหนาน และออกสู่ทะเลปั๋วไห่ ในมณฑลซานตง ซึ่งเป็นทะเลในอ่าวทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

บทสรุป
ปัจจุบัน แม่น้ำฮวงโห หรือ แม่น้ำเหลือง มีสัดส่วนร้อยละ ๒ ของปริมาณน้ำจากแม่น้ำทั้งหมดของจีน โดยเป็นแหล่งน้ำสำหรับประชากรร้อยละ ๑๒ จากประชากรทั้งหมดของจีน (เกือบ ๑,๔๐๐ ล้านคน) และเป็ยแหล่งชลประประทานร้อยละ ๑๕ แก่พื้นที่เพาะปลูกและมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ ๑๔ แม้ว่าในช่วงปี ๑๙๗๒ – ๑๙๙๙ (พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๔๒) แม่น้ำฮวงโหจะเผชิญกับภาวการณ์แห้งแล้งจากการใช้ทรัพยากรน้ำมากเกินไปและขาดการบริหารจัดการที่ดี แต่หลังจากปี ๑๙๙๙ (พ.ศ.๒๕๔๒) รัฐบาลจีนได้เข้ามาดูแลในการบริหารจัดการแม่น้ำและการใช้ทรัพยากรน้ำโดยบังคับใช้มาตรการใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
http://www.china.org.cn/china/2019-09/20/content_75225198.htm 
http://thai.cri.cn/20190919/51f6a40e-6e95-13c1-ce5e-f5a25fe228dd.html 
https://www.xinhuathai.com/china/E0%B9%8C_20190919 
https://www.xinhuathai.com/vdo/%e0%b9%8c_20190915 
https://www.facebook.com/Dr.Sao.Ideas/posts/2331268733631428 
https://th.wikipedia.org/wiki/E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%87