bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค.๖๑ : ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งแนวคิดและรูปแบบพื้นฐานในการดำเนินนโยบายความมั่นคงของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในแง่มุมของจีน ซึ่งเห็นว่า ภายหลังยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น นโยบายต่างประเทศของจีนจึงมุ่งเน้นการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยมีเหตุผล ๓ ประการ กล่าวคือ
        ๑.๑ จีนเห็นว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาและมีศักยภาพในการทำสงครามขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่จีนต้องการรักษาสภาวะแวดล้อมให้มีความสงบเพื่อเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามแผน
        ๑.๒ จีนประเมินว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะทำให้จีนบรรลุความทันสมัย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดการค้าที่มีความสำคัญรวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
        ๑.๓ จีนมีข้อพิจารณาว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับประเด็นปัญหาไต้หวัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

๒. ในแง่มุมของสหรัฐฯ ซึ่งได้วิเคราะห์ประเมินว่า จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ นอกจากที่จีนเป็นประเทศหนึ่งในห้าของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรของสหประชาชาติแล้ว ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ใน ๔ ประการ ได้แก่
        ๒.๑ จีนเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ รวมทั้งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการจำกัดการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง
        ๒.๒ จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
        ๒.๓ จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาที่รวดเร็วโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลก เช่น ปัญหาด้านมลพิษ เป็นต้น
        ๒.๔ สหรัฐฯ เห็นว่า หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่นิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ การดำเนินความสัมพันธ์กับจีนจะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย

๓. สำหรับแนวคิดและรูปแบบพื้นฐาน ในการดำเนินนโยบายความมั่นคงของจีน พบว่า
        ๓.๑ มุ่งนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศต่าง ๆ โดยมีการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศว่า จะยังไม่มีสงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาคที่จะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสการพัฒนาประเทศของจีน แต่กระแสโลกาภิวัตน์จะกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันทำให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น (Interdependence) โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ
        ๓.๒ มุ่งสร้างความสมดุลในด้านกำลังอำนาจหลังจากยุคสงครามเย็นที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบสองขั้วอำนาจไปอยู่ภายใต้การถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ ในลักษณะของการเป็นขั้วอำนาจเดียว แต่ในอนาคตระบบความมั่นคงจะมีพัฒนาการไปสู่การมีหลายขั้วอำนาจ รวมทั้งจะมีการเผชิญหน้ากับความท้าทายของความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (Non Traditional Security Challenges) เพิ่มมากขึ้นทั้งจากการก่อการร้าย การแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง และภัยพิบัติรุนแรงทางธรรมชาติ เป็นต้น

บทสรุป

การเจริญเติบโตขึ้นของจีน (Rise of China) จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก ซึ่งจีนต้องมีบทบาทในการสร้างกฎระเบียบรวมทั้งบรรทัดฐานขององค์กรระหว่างประเทศในรูปแบบพหุภาคีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยจีนนำเสนอแนวคิดความมั่นคงใหม่ (New Security Concept) ที่ได้เริ่มต้นศึกษาทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ.๒๕๓๖) จนแล้วเสร็จในปี ค.ศ.๑๙๙๔ (พ.ศ.๒๕๓๗) และในปี ค.ศ.๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) จีนได้เสนอแนวคิดความมั่นคงใหม่ในที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๔ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยแนวคิดความมั่นคงใหม่ดังกล่าวจะเน้นความเท่าเทียมกัน (Equality) การเจรจาหารือ (Dialogue Trust) ผลประโยชน์ร่วม (Mutual Benefit) และความร่วมมือ (Cooperation) ซึ่งจะขอนำเสนอต่อในวันพรุ่งนี้

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.huffingtonpost.com/yan-xuetong/china-us-competition-allies_b_8449178.html

ข้อมูลจากหนังสือ

Shenxia, Zheng. (2008). “China’s Peaceful Development and Asia-Pacific Security” in China Association for Military Science. Peaceful Development and Security in the Asia – Pacific Region. Beijing: Military Science Publishing House., pp. 8-15. 

Xuetong, Yuan. (2017). “Inside the China - U.S. Competition for Strategic Partners” in The Blog.

Zicheng, Ye. (2011). Inside China’s Grand Strategy : the Perspective From the People’s Republic. Kentucky : The University Press of Kentucky., pp. 3-4.