ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีต้อนรับ และดีใจที่ได้มีโอกาสพบผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอีกครั้ง รัฐบาลไทยติดตามสถานการณ์การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด และขอให้กำลังใจกับทุกฝ่ายให้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างสันติวิธี ทั้งนี้ เชื่อมั่นในภาวะผู้นำของผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงซึ่งจะแก้ไขปัญหาโดยยึดมั่นถึงประโยชน์และอนาคตของชาวฮ่องกง ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้โอกาสในการเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ และยินดีที่ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้งขอบคุณสำหรับกำลังใจจากมิตรแท้ และเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะคลี่คลายไปในทางที่ดีในเร็ววันนี้
๒. ประเด็นสำคัญในการหารือ
๒.๑ ทั้งสองฝ่าย ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฮ่องกงที่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในหลายมิติในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ ๑ (เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๖๒) ที่ประสบความสำเร็จด้วยดี และขอบคุณที่รัฐมนตรีการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ที่ได้นำคณะนักธุรกิจฮ่องกงกว่า ๕๐ คน มาร่วมงานเมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย.๖๒ ทั้งนี้ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวถึงความสำเร็จจากการประชุมที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือสำคัญระหว่างไทย-ฮ่องกงในอนาคต
๒.๒ นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมีความเห็นร่วมกันถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย จึงพร้อมร่วมมือกันเร่งรัดการเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการพัฒนาของไทย เช่น ประเทศไทย ๔.๐ EEC และ “Connecting the Connectivities” กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน ซึ่งฮ่องกงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Greater Bay Area ตลอดจน การส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ SMEs Start-ups การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิจัยและการพัฒนา
๓. ข้อสังเกต ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ ๑ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ กล่าวคือ
๓.๑ ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย ๒๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ พร้อมทั้งเริ่มหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
๓.๒ ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนการเยือน และการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยมุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย
๓.๓ ด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของกันและกัน ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการตลาด โดยเฉพาะการทำ regulatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
๓.๔ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่คนไทยและฮ่องกงต่างมี “พลังแห่งความสร้างสรรค์” (creative power) อยู่มาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ สองฝ่ายจึงจะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างให้มีการใช้พลังนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป
๓.๕ ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand และแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม เพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
บทสรุป
นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับไทย ในฐานะที่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงนับถือศาสนาคริสต์ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิสได้เสด็จเยือนไทย จึงขอส่งผ่านพระพรจากพระองค์แด่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วย อนึ่ง ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ ๑ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ อีก ๕ ฉบับ ได้แก่
(๑) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับศูนย์การออกแบบฮ่องกง
(๒) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง
(๓) บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง
(๔) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง
(๕) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24937
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24927
https://thestandard.co/thai-hong-kong-mou/