bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๓๐ ม.ค.๖๔ ขอเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้บรรลุเป้าหมายตามขั้นตอนของ “แผนแม่บทสำหรับเส้นทางใหม่ทางบก ทางทะเลและทางตะวันตก” (“西部陆海新通道总体规划”)


 
๑. ในการแถลงข่าวที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสารสนเทศของรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) เมื่อวันที่ ๒๒ มค.๖๔ ที่ได้มีการประเมินเป้าหมายและภารกิจทีละขั้น ซึ่งกำหนดโดย "แผนแม่บทสำหรับเส้นทางใหม่ทางบก ทางทะเลและทางตะวันตก" ในอนาคต โดยในปี ๒๐๒๐(พ.ศ.๒๕๖๓) ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงแรงผลักดันที่ดีของการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทาง ที่ได้เพิ่มขนาดของระบบขนส่งทางบก รวมทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือแบบเปิดกว้าง และในปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) กวางสีจะส่งเสริมการก่อสร้างท่าเรือเกตเวย์ระหว่างประเทศ “อ่าวเป่ยปู้” (北部湾) อย่างจริงจัง และมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงขีดความสามารถในการขนส่งของช่องทางหลักโดยเสริมสร้างการก่อสร้างระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการลดค่าธรรมเนียมและบริการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการสานต่อความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จากภูมิภาคตะวันตกได้อย่างดี อันจะเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการสำคัญ ๆ ในช่วงแผนห้าปีฉบับที่ ๑๔ ของประเทศ และผสานรวมเข้ากับรูปแบบการพัฒนาใหม่ของ "วงจรคู่" (“双循环”) อย่างแข็งขัน
 
๒. แผนแม่บทสำหรับเส้นทางใหม่ทางบก ทางทะเลและทางตะวันตก ได้ระบุว่า ในชนบททางตะวันตกของจีนมีเส้นทางซึ่งเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจทางตอนเหนือ เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ ทางตอนใต้ และแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาภูมิภาคที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้ออกประกาศเกี่ยวกับ "แผนแม่บทสำหรับเส้นทางใหม่ทางบก ทางทะเลและทางตะวันตก" ซึ่งกำหนดแผนและระยะเวลาสำหรับการก่อสร้างเส้นทางใหม่ ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๙ - ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๒ - ๒๕๖๘) และจนถึงปี ค.ศ.๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) กล่าวคือ
     ๒.๑ “ระเบียงใหม่ทางบก - ทางทะเล” (“陆海新通道”) ที่นำโดยการก่อสร้างร่วมกันของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (หรือ “สายแถบและเส้นทาง”) โดยอาศัยโครงการสาธิตการเชื่อมต่อโครงข่ายยุทธศาสตร์จีน (ฉงชิ่ง) - สิงคโปร์ ที่จัดทำร่วมกันโดยมณฑล (ภูมิภาคและเมือง) ของจีน และประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ผ่านการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายประการ
     ๒.๒ “ระเบียงใหม่ทางบก - ทางทะเล” (“陆海新通道”) เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศจีน - ยุโรป ไปทางทิศตะวันตก กับแม่น้ำแยงซีไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งเชื่อมต่อกับสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน - คาบสมุทรอินโดจีนไปทางทิศใต้ ในรูปแบบใหม่ของการเปิดกว้างด้วยการเชื่อมโยงภายในและภายนอก ตลอดจนความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ได้กลายเป็นผู้ให้บริการและแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับการดำเนินการตามโครงการริเริ่ม “ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”  (“一带一路”)หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)
 
บทสรุป

การก่อสร้างเส้นทางใหม่ทางบก ทางทะเลและทางตะวันตก จะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ ๆ สำหรับทุกส่วนของภาคตะวันตก ทั้งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ศูนย์กลางการขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และโครงการอื่น ๆ อันจะเชื่อมโยงกับการก่อสร้างตามโครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง” เข้าด้วยกัน อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูล

http://gx.people.com.cn/n2/2021/0124/c179430-34544248.html 

https://www.sohu.com/a/334818443_260616