bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๔ ม.ค.๖๓ การพัฒนาอย่างยั่งยืนของจีน

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๔ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑ ม.ค.๖๓ นักวิชาการจีนและต่างชาติ ได้ร่วมกันประกาศรายงานการวิจัยในวารสาร “เนเจอร์”(Nature) ว่า ได้ใช้วิธีการใหม่ประเมินสภาพการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ๑๗ รายการ ผลปรากฏว่า ระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในรายงานผลการประเมินฉบับดังกล่าวระบุว่า ระหว่าง ค.ศ.๒๐๐๐ – ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๔๓ – ๒๕๕๘) ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานปฏิรูปพัฒนาอย่างยั่งยืนของจีน ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับมณฑลต่างประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด โดยดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับประเทศเพิ่มจาก ๔๕.๕ เป็น ๕๕.๔ เพิ่มขึ้น ๒๒% ส่วนดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับมณฑลเพิ่มจาก ๔๒.๒ เป็น ๕๔.๙ เพิ่มขึ้น ๓๐%

๒. สำหรับผลงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนแต่ละรายการจากทั้งหมด ๑๗ รายการดังกล่าวนั้น ประเทศจีนมี ๑๓ รายการได้รับผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะใน ๕ รายการสำคัญ ได้แก่ (๑) การขจัดความยากจน (๒) การปรับปรุงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น (๓) การนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน (๔) การลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกัน และ (๕) การส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนทั่วโลกอย่างยั่งยืน

๓ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๔ ต.ค.๖๒ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมฟอรั่มการพัฒนาอย่างยั่งยืนครั้งแรกขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และได้มีการประกาศ “รายงานผลการปฏิบัติตามแผนกำหนดการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)  ของจีนในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)” ซึ่งได้แสดงถึงผลงานความคืบหน้าที่จีนใช้ความพยายามส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนช่วง ๒ ปี โดยนายหลี่ ปิน รองประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนกล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า จีนจะเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติกับแผนกำหนดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประสบผลคืบหน้าสำคัญหลายด้านในเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ ด้านการขจัดความยากจน เศรษฐกิจมหภาค กิจการสังคม ภาวะนิเวศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในขณะที่นายหม่า เจาซีว์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า จีนจะถือการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งชาติ ปฏิบัติตามแผนกำหนดการปี ๒๐๓๐ อย่างรอบด้าน

บทสรุป

ในหลายปีที่ผ่านมานี้ จีนได้เชื่อมโยงวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ โดยได้จัดตั้งเขตนิคมนวัตกรรมใหม่ ๖ แห่งในเมืองเซินเจิ้น ไท่หยวน และกุ้ยหลิน จนกลายเป็นทรัพยากรทางนวัตกรรมใหม่ด้านต่างๆ และเป็นแบบอย่างในการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบผลสำเร็จในขั้นต้นด้วยดี นอกจากนี้ จีนได้แสดงจุดยืนต่อแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปิดกว้างและแบ่งปันกัน เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง โดยจีนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ในการผลักดันการร่วมมือกันสร้างสรรค์ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนให้เชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ เพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์