หลักคิดของจีนในการพัฒนาประเทศ ด้วยการแบ่งเป็นพื้นที่ (Zone) โดยใช้ศักยภาพของแต่ละพื้นที่มุ่งสู่การพัฒนาตามจุดมุ่งหมายและจุดเน้นที่แตกต่างกัน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น และการพัฒนากลุ่มเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้หรืออ่าวตังเกี๋ย ฯลฯ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone/深圳经济特区 ) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ ส.ค.๒๓ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษานโยบายเปิดประเทศของจีนตามระบบกลไกตลาดในยุคแรกที่จีนเริ่มเปิดประเทศ จากเมืองหมู่บ้านชาวประมงที่มีประชากรเพียง ๓๐,๐๐๐ คน และมีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร สามารถพัฒนามาเป็นเมืองที่ทันสมัย ก้าวหน้าอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย โดยพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นประสบความสำเร็จ ได้แก่
๑.๑ รัฐบาลกลางจีนได้ให้สิทธิในการออกนโยบายพิเศษ ที่ช่วยให้สามารถริเริ่มการสร้างสภาพแวดล้อมที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมือง โดยเฉพาะการดึงดูดเงินลงทุนสำหรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ
๑.๒ เป็นเมืองแรกในการนำร่องการปฏิรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบภาษีนิติบุคคล เป็นต้น
๑.๓ การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจสำหรับสถาบันการเงินจากต่างประเทศ รวมถึงการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน
๑.๔ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการพัฒนา เช่น ท่าเรือ และสนามบิน รวมถึงความพร้อมของถนน ระบบโทรคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งในระบบต่างๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของเมือง
๑.๕ ทำเลที่มีศักยภาพ เช่น มีสถานที่ตั้งติดทะเลบริเวณจีนตอนใต้และอยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกง ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของเกาะฮ่องกงอีกด้วย ซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงแรกจะมาจากเกาะฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่
๑.๖ การบริหารงานโดยรัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการให้เป็น “One Stop Service” เน้นความโปร่งใสของการบริหารงาน เช่น แผนพัฒนาเมืองเซินเจิ้นที่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง ควบคู่กับการเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิผลในกระบวนการการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่น
๑.๗ มีความยืดหยุ่นของกฏหมายแรงงาน
๑.๘ มีการเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับเศรษฐกิจในประเทศ
๑.๙ มีการจูงใจทางนโยบายทางการคลังในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ อุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษได้
๒. การพัฒนากลุ่มเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้หรืออ่าวตังเกี๋ย (Beibu Gulf Urban Agglomeration/北部湾城市群) ประกอบด้วย ๙ เมืองและ ๓ อำเภอของ ๓ มณฑล มีพื้นที่แผ่นดินรวม ๑๑๖,๖๐๐ ตร.กม. เส้นแนวชายฝั่งทะเล ๔,๒๓๔ กิโลเมตร ได้แก่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ๖ เมือง (นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองยวี่หลิน และเมืองฉงจั่ว ซึ่งเป็นเมืองสมาชิกเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี) มณฑลกวางตุ้ง ๓ เมือง (เมืองจ้านเจียง เมืองม่าวหมิง และเมืองหยางเจียง) และมณฑลไห่หนาน ๓ เมือง ๓ อำเภอ (นครไห่โข่ว เมืองตานโจว เมืองตงฟาง อำเภอเฉิงม่าย อำเภอหลินกาว และอำเภอชางเจียง) โดยรัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลไห่หนาน ได้ร่วมกันผลักดันกลไกความร่วมมือระหว่าง ๓ มณฑล สำหรับในส่วนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีการดำเนินการประกอบด้วย
๒.๑ การผลักดันและยกระดับ “เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ภายใต้แนวคิดการพัฒนา ๕ ประการ ได้แก่ (๑) การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (๒) การพัฒนาประสานแนวร่วมภาคี (๓)การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (๔) การเปิดสู่ภายนอก และ (๕) การแบ่งปัน
๒.๒ การขยายความร่วมมือกับอาเซียนในเชิงลึก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเปิด(Open Economy) ได้แก่ (๑) ผลักดันการพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” เชื่อมโยงจีน-สิงคโปร์ โดยเฉพาะการบริการขนส่งโลจิสติกส์ “เรือ+รถไฟ” แบบประจำ (๒) ผลักดันให้การพัฒนาโครงข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองท่าเรือจีน-อาเซียนเป็น key project ของความร่วมมือด้านการคมนาคมจีน-อาเซียน (๓) ส่งเสริมการพัฒนาและการลงทุนของวิสาหกิจใน “นิคมอุตสาหกรรมพี่น้อง” (ชินโจว-กวนตันในมาเลเซีย) (๔) เร่งดำเนินยุทธศาสตร์การลงทุนในต่างประเทศของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ เช่น การสนับสนุนบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Groupไปบริหารจัดการที่ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ Murray ที่บรูไนดารุสซาลาม
๒.๓ การสร้างสรรค์และปฎิรูปเชิงลึกแบบรอบด้าน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนา เช่น การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการเขตนำร่องการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกแห่งชาติ ๒ แห่ง ที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียงและอำเภอระดับเมืองตงซิง เป็นต้น
๒.๔ การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพและความอัจฉริยะสูง เร่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ผลักดันการวางผังอุตสหกรรม ส่งเสริมการใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
๒.๕ การพัฒนาความเชื่อมโยงด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
๒.๖ การพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) แบบบูรณาการ อาทิ การโทรคมนาคม การท่องเที่ยว ระบบประกันสังคม ระบบพิธีการศุลกากรระบบสำมะโนครัว ระบบคมนาคม การเงิน และการศึกษา
บทสรุป
การแบ่งพื้นที่ในการพัฒนาของจีน โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ยกเว้น (Space of Exception) ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนได้รวดเร็ว อันเป็นการส่งเสริมการลงทุน ที่ส่งผลให้จีนประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยควรเรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องนี้จากจีน และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อไป
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.ftawatch.org/node/2270
https://www.facebook.com/BackpackJournalistTPBS/videos/2136516833244927/