ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือข่ายของจีน หรือ กวนซี่” 关系 (Guanxi) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมลัทธิขงจื่อ แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันเครือญาติและเพื่อน เพื่อการแสดงตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อันจะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้นเพราะมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการค้าขายก็จะเป็นเหมือนการร่วมประสานและแบ่งปันผลประโยชน์กันในครอบครัวในพวกพ้องเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ความหมายของ “กวนซี่” สำหรับชาวจีนนั้นหมายถึง ชาวจีนถือตนเองเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ทางสังคม และมักจะมีการแบ่งความสำคัญใกล้ชิดและความห่างเหินของบุคคลเป็นหลายระดับโดยมีศูนย์รวมเดียวกันที่มีการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม คนที่ยิ่งสนิทสนมก็จะยิ่งใกล้ชิดกับศูนย์กลางของ “ตนเอง” และจะมีกฎระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างสำหรับคนอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดห่างเหินที่แตกแต่ง ทั้งนี้เป็นแนวคิด “ระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน”
๑.๑ “กวนซี่” ประกอบด้วยอักษรจีนสองตัว คำว่า “กวน” 关 (Guan) หมายถึงประตู ด่านหรืออุปสรรค และคำว่า “ซี่” 系 (Xi) หมายถึง ผูก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ หรือการเชื่อมต่อ ดังนั้นกวนซี่ (Guanxi) หมายความว่า “ผ่านประตูหรือด่านและได้รับการเชื่อมต่อกัน” โดยนักปราชญ์ขงจื่อเห็นว่า สังคมเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ แต่ละบุคคลต่างมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในวัฒนธรรมจีนนั้นการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าส่วนบุคคล
๑.๒ สังคมชาวจีนให้ความสำคัญกับความสมดุลเรื่อง “หยิน” และ “หยาง” ตามแนวคิดลัทธิเต๋า ในขณะที่ปรัชญาขงจื่อได้เสนอแนวคิดระเบียบปฏิบัติความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น บิดา-มารดา-บุตร สามี-ภรรยา มิตรสหาย-มิตรสหาย พี่-น้อง ตลอดจนถึงราษฎร-ผู้ปกครองรัฐ โดยได้มุ่งเน้นว่าบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ละบุคคลนั้นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างมีระเบียบ สังคมถึงจะได้สงบสุข มั่นคงและเกิดความสมดุล ซึ่งคำว่า “มีระเบียบ” จึงต้องเอาระบบ “กวนซี่” ตามแนวคิดปรัชญาขงจื่อมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมและคุ้มครอง
๒. แนวคิดและคุณลักษณะที่สำคัญของ “กวนซี่” มี ๗ ประการ ได้แก่
๒.๑ สามารถสืบทอดกันได้ หมายถึง คนสองฝ่ายที่ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงแต่สามารถรู้จักกันและสร้างความสัมพันธ์ได้ผ่านบุคคลที่สามได้
๒.๒ มีลักษณะเกื้อกูลกัน หมายถึง การคบค้าสมาคมและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างบุคคล ซึ่งการแลกเปลี่ยนนั้นอาจไม่ได้มีความเท่าเทียมกันในด้านจำนวนหรือมูลค่าเสมอ เช่น ในระหว่างทางสองฝ่าย ฝ่ายที่เป็นผู้อุปถัมภ์ที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลจะมีมากกว่าการตอบแทนจากผู้รับอุปถัมภ์ แม้กระทั่งผู้รับอุปถัมภ์อาจไม่ได้มีการตอบแทนซึ่งกันและกันด้านวัตถุหรือด้านเงิน แต่ฝ่ายที่เป็นผู้อุปถัมภ์คิดว่าข้อผูกมัดนั้นเป็นเรื่องที่มีหน้ามีตา
๒.๓ มีลักษณะที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ หมายถึง ระหว่างทั้งสองฝ่ายของ “กวนซี่” นั้นต้องรับข้อผูกมัดที่จับต้องไม่ได้ เช่น เชื่อใจ อดทน และเกื้อกูลเอื้อเฟื้อกัน เป็นต้น
๒.๔ ยึดถือเรื่องมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นประเด็นสำคัญ หมายถึง ความสัมพันธ์เชิง “กวนซี่” นั้นมีเป้าหมายที่มุ่งผลประโยชน์ร่วมกัน มุ่งเน้นเกื้อกูลเอื้อเฟื้อกันที่เป็นผลประโยชน์ด้านวัตถุและจิตใจ นอกเหนือจากการผูกพันกันและกัน
๒.๕ มีความพิลึกตามสถานการณ์ หมายถึง แบบโต้ตอบของทั้งสองฝ่ายของ “กวนซี่” นั้นต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ส่งของขวัญเพื่อแสดงน้ำใจ ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การส่งของขวัญเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่ให้สินบน ซึ่งอาจมิชอบด้วยกฎหมาย
๒.๖ มีลักษณะระยะยาว หมายถึง กวนซี่ที่ดีนั้นต้องผ่านการขัดเกลาและพิสูจน์ระยะยาวระหว่างทั้งสองฝ่ายถึงจะมั่นคง ทั้งสองฝ่ายของ “กวนซี่” ต้องกระชับความสัมพันธ์ผ่านพฤติกรรมให้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างซ้ำ ๆ เพื่อเสริมสร้างกวนซี่ที่ดี หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระงับภาระผูกพันและความรับผิดชอบ กวนซี่แบบเดิมอาจอ่อนตัวลงหรือเจือจาง จนกระทั่งถูกทำลาย
๒.๗ มีลักษณะความเป็นส่วนบุคคล เนื่องจากว่า “กวนซี่” นั้นสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบที่เป็นปัจจัยหลายด้าน เช่น ความเชื่อใจ ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อกัน การเคารพ และฐานะทางสังคม เป็นต้น ดังนั้นความซื่อสัตย์ระหว่างบุคคลนั้นจะชัดเจนกว่าของคนในองค์กร เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระดับบุคคลนั้นตามปกติแล้วมีความสำคัญยิ่งกว่าระดับองค์กร การศึกษาความสัมพันธ์บุคคลในองค์กรต้องสร้างอยู่บนฐานส่วนบุคคลไว้ก่อน
๓. ผลกระทบจากฐานแนวคิดของ “กวนซี่” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของลัทธิขงจื่อ โดยนักปรัชญาขงจื่อได้เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ใต้ฟ้าทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน” ทำให้ชาวจีนมีความเข้าใจว่า การให้ความช่วยเหลือคนอื่นแบบไร้เงื่อนไข ถือเป็นพฤติกรรมที่มีคุณธรรม แต่เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกมัดทางศีลธรรมหรือรักษาหน้า ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมักจะมีจิตใต้สำนึกว่าควรจะตอบแทนบุญคุณ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือกันเป็นวิธีแสดงความขอบคุณอย่างหนึ่งที่ผู้คนยอมรับกัน และวิธีการแบบนี้จึงได้กลายเป็นวิถีที่มีการเอื้อเฟื้อกันและกันระหว่างบุคคล
บทสรุป
การสร้างความสัมพันธ์แบบ “กวนซี่” เพื่อได้รับผลดี ถือได้ว่าเป็นวิธีการสะสมทรัพยากรในยามสงบสุขและเป็นการป้องกันวิกฤติในยามทุกข์ เนื่องจากในช่วงชีวิตอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่สามารถอาศัยระบบ “กวนซี่” ในการไขว่คว้าทรัพยากรที่หายากโดยผ่านความผูกพันและฐานะหน้าตาทางสังคม โดยเฉพาะในสังคมชาวจีน ที่มักจะต้องเริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมจากการยืนยันว่า บุคคลนี้เป็นสมาชิกหรือส่วนหนึ่งในเครือข่าย “กวนซี่” ของตนเองหรือไม่ก่อน แม้กระทั่งพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ก็ต้องสร้างบนพื้นฐานเครือข่าย “กวนซี่” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น “กวนซี่” จึงเปรียบเสมือนเป็นระลอกคลื่นที่เกิดจากก้อนหินที่โยนลงในน้ำ ก้อนหินนั้นก็เป็นสัญลักษณ์แทนของ “การเป็นสมาชิก” ในระบบ “กวนซี่” และรากฐานของ “กวนซี่” ก็คือ สายเลือด ถิ่นเกิด และอาชีพ ทั้งนี้ถือว่าเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสักเพียงใดก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายใต้ระบบ “กวนซี่” จะยังมีความสำคัญอยู่เสมอ และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือข่ายกับคนจีน
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://en.wikipedia.org/wiki/Guanxi
https://mgronline.com/china/detail/9600000122762
https://mgronline.com/china/detail/9600000122673