bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ เม.ย.๖๑ : กรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้พบเจรจากับประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้พบเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) ที่มหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก หลังจากองค์การเสร็จสิ้นการเพิ่มชาติสมาชิกอีก ๒ ประเทศ เมื่อวันที่ ๘ – ๙ มิ.ย.๖๐ คือ อินเดีย กับปากีสถาน ทำให้ปัจจุบัน SCO มีจำนวน ๘ ชาติสมาชิก อันได้แก่ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิสถาน ทาจิกิสถาน อุชเบกิสถาน อินเดีย และ ปากีสถาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของทุกฝ่าย การประชุมครั้งนี้ย่อมจะเพิ่มเติมความหมายและพลังต่อการพัฒนาขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

๒. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมดังกล่าว โดยเน้นว่า
         ๒.๑ ความมั่นคงเป็นรากฐานที่แท้จริงของการพัฒนา เราต้องยึดถือการคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยภายในภูมิภาค ซึ่งเป็นภาระหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติงาน
         ๒.๒ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญระดับสูงต่อการดำเนินความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในกรอบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ บนพื้นฐานที่เชื่อถือและอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน การปรึกษาหารืออย่างเสมอภาคกัน
         ๒.๓ จีนยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย เคารพกฎบัตรและความเห็นร่วมกันระหว่างผู้นำประเทศสมาชิก ร่วมกันกำหนดพิมพ์เขียวความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการรักษาความปลอดภัย ลงลึกการดำเนินความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการรักษาความปลอดภัย รังสรรค์ความร่วมมือรูปแบบใหม่ ก่อตั้งระบบความร่วมมือด้านความมั่นคงที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น เพิ่มศักยภาพการป้องกันความเสี่ยงขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ สร้างคุณูปการต่อการรักษาความปลอดภัยในระยะยาวและความเจริญรุ่งเรืองภายในภูมิภาค

๓. ข้อสังเกต 

เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ เม.ย.๖๑ สมาคมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งองค์กรประชาสังคมจีน และทางการมณฑลส่านซี ร่วมกันจัดฟอรั่มประชาชนองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และที่ประชุมได้ผ่าน "ปฏิญญาซีอานของฟอรั่มประชาชน SCO ครั้งแรก" ซึ่งชี้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทที่เป็นเอกลักษณ์ ในการสร้างสะพานการสื่อสาร การสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน และการรวบรวมพลังประชาชน โดยผู้เข้าร่วมกว่า ๘๐ คนจาก ๑๒ ประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกและประเทศผู้สังเกตการณ์ของ SCO อดีตนักการเมืองของประเทศคู่เจรจา องค์กรภาคประชาสังคม คลังสมอง สื่อ และสำนักงานเลขาธิการของ SCO

บทสรุป

หลังจากประเทศสมาชิก SCO มีประเทศร่วมลงนามในข่าวสารเกี่ยวกับ “คำประกาศสถาปนาองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” (Declaration on the Establishment of the Shanghai Cooperation Organization) เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๒๐๐๑ (พ.ศ.๒๕๔๔) นอกจากนี้ ยังได้ลงนามร่วมกันใน “อนุสัญญาเซี่ยงไฮ้ว่าด้วยการต่อสู้กับลัทธิการก่อการร้าย ลัทธิแบ่งแยกดินแดนและลัทธินิยมสุดขั้ว” (Shanghai Convention on Fighting Terrorism, Separatism and Extremism) ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์การ ทั้งนี้ SCO ได้ประกาศว่า องค์การไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการต่อต้านรัฐหรือภูมิภาคใดๆ ดังนั้น การที่อินเดียและปากีสถานได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ SCO เมื่อกลางปีที่แล้ว จึงเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ดุลอำนาจในองค์การนี้ด้วย

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

www.xinhuanet.com/english/2018-04/24/c_137131741.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/04/24/62s266549.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/04/11/302s266198.htm

http://thaicafe.blogspot.com/2012/07/shanghai-economic-organization.html