ความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในการพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียและรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานในช่วงเวลาแบบข้ามคืน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๒ เม.ย.๖๑ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน พบกับนางศุษมา สวราช (Sushma Swaraj) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ที่ กรุงปักกิ่ง
๑.๑ นายหวัง อี้ กล่าวว่า ปีนี้ภายใต้การชี้นำของผู้นำสองประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดียพัฒนาไปด้วยดี นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจะมีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับนาย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมในการพบปะกัน และถือโอกาสดังกล่าวส่งเสริมความเชื่อถือทางยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม รับมือกับข้อขัดแย้งด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อบรรลุซึ่งการพัฒนาร่วมกันตลอดจนทำประโยชน์ต่อสันติภาพและการพัฒนาของภูมิภาคและของโลก
๑.๒ นางศุษมา สวราช กล่าวว่า อินเดียยินดีที่จะร่วมมือกับจีน ส่งเสริมการติดต่อระหว่างผู้นำสองประเทศ ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสองฝ่าย ยกระดับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดีย-จีนให้สูงขึ้น
๒. เมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย.๖๑ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เจรจากับนายคาวาจา มูฮัมหมัด อาซิฟ (Khawaja Muhammad Asif) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ที่อยู่ระหว่างการเยือนจีน
๒.๑ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับปากีสถานมีคุณค่าต่อทั้งสองประเทศ ในอนาคตสองประเทศจะถือการพัฒนาความสัมพันธ์เป็นนโยบายทางการทูต เพิ่มการประสานงานในกิจการภูมิภาคและระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ พัฒนาประชาคมร่วมระหว่างจีนกับปากีสถานให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
๒.๒ นายหวัง อี้กับนายคาวาจา มูฮัมหมัด อาซิฟ ได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจา โดยนายหวัง อี้ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถานในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจการค้าและความมั่นคง โดยได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันรักษาระบบการค้าทั่วโลกที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง ส่งเสริมทิศทางพัฒนาภายใต้กรอบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ จีนยินดีให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ปากีสถาน รวมถึงประเด็นในด้านการปราบปรามการก่อการร้าย
๓. ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียและปากีสถาน
๓.๑ ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การที่ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็ได้เข้าร่วมในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) ในฐานะสมาชิกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๘ - ๙ มิ.ย.๖๐ ซึ่ง SCO นำโดยรัสเซียกับจีน และประเทศในเอเชียกลาง (ปัจจุบันมีสมาชิกรวม ๘ ประเทศ)
๓.๒ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ ความขัดแย้งแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งแคชเมียร์นั้นมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชเมื่อปี ๑๙๔๘ (พ.ศ.๒๔๙๑) โดยทั้งสองประเทศได้เปิดสงครามรบกันมาแล้วหลายครั้งเพื่อแย่งชิงดินแดนแคชเมียร์ โดยเฉพาะเมื่อตอนปลายปี ๒๐๐๑ (พ.ศ.๒๕๔๔) ได้มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีรัฐสภาของอินเดีย ซึ่งในตอนนั้นอินเดียก็กล่าวหากลุ่ม LeT ในปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลัง และเกือบจะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าสู่สงครามอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ได้มีความพยายามในการเจรจาหยุดยิง และสันติภาพก็ดูว่าจะเกิดขึ้นในแคชเมียร์ อย่างไรก็ตามการก่อการร้ายที่มุมไบ และความตึงเครียดอินเดีย-ปากีสถานครั้งล่าสุด ในปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) ก็ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องแคชเมียร์ยังคงยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้
บทสรุป
จีนจะใช้ปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือในองค์การ SCO ประสานประโยชน์กับทั้งอินเดียและปากีสถานได้ผลเพียงใด ในขณะที่วิกฤตความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อ ๖๐ ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องดินแดนแคชเมียร์ ยังเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ต่อการสานสัมพันธ์ของจีนในการดำเนินนโยยายความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ที่จีนต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งอินเดียและปากีสถาน จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะผลในทางปฏิบัติหลังจากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอินเดียและปากีสถานเมื่อต้นสัปดาห์นี้
ประมวลโดย : พันเอก ชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/247/2018/04/23/301s266525.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/04/23/121s266533.htm
https://www.rt.com/news/391666-sco-expands-eight-countries/