bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๓ เม.ย.๖๑ : ความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่มีประโยชน์โดยตรงต่อชีวิตประจำวัน

ความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่มีประโยชน์โดยตรงต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมนำร่อง เป่ยโต่วหมายเลข ๓ สองดวงขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ มี.ค.๖๑ โดยจรวดขนส่งลองมาร์ช ๓บี (Long March-3B) เพียงลำเดียวจากฐานปล่อยจรวดในเมืองซีชาง มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) โดยรายงานระบุว่า
            ๑.๑ ดาวเทียมทั้งสองดวงได้เคลื่อนตัวเข้าสู่วงโคจรเพื่อทำงานร่วมกับดาวเทียมอีก ๖ ดวงบนอวกาศอย่างราบรื่น หลังจากใช้เวลาเดินทางสู่วงโคจรนับ ๓ ชั่วโมง โดยดาวเทียมทั้งสองดวงเป็นดาวเทียมระบบนำร่องเป่ยโต่วดวงที่ ๓๐ และ ๓๑ ที่จีนปล่อยขึ้นสู่อวกาศ
            ๑.๒ ความเป็นมาของโครงการ ซึ่งจีนก่อตั้งระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วหมายเลข ๑ เมื่อปลายปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) เพื่อให้บริการภายในประเทศ หลังจากนั้นในปลายปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ได้ตั้งระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วหมายเลข ๒ เพื่อให้บริการแก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อนจะเริ่มทยอยส่งเป่ยโต่วหมายเลข ๓ ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) เพื่อจะสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วโลกได้ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยจะใช้ดาวเทียมปฏิบัติการทั้งหมดเกือบ ๔๐ ดวง
            ๑.๓ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ รายงานระบุว่า เรือประมงจีนกว่า ๔๐,๐๐๐ ลำ และยานพาหนะอื่นๆ ในจีนกว่า ๔.๘ ล้านคันได้รับการติดตั้งระบบนำทางเป่ยโต่ว ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถหลบเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ได้กว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับสถิติในปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมบริการดาวเทียมนำร่องของจีนมีมูลค่ามหาศาลกว่า ๒.๑ แสนล้านหยวน หรือราว ๑.๑ ล้านล้านบาท ในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) โดยมีระบบดาวเทียมเป่ยโต่วครองสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ ๗๐

๒. นายหวัง จื้อฉิน ผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนเปิดเผยว่า จีนน่าจะเริ่มออกใบอนุญาตสัญญาณโทรศัพท์ 5G ให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสัญญาณได้ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่
             ๒.๑ การขยับตัวของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนในครั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศจีนก้าวสู่ผู้นำมาตรฐาน 5G และปูทางสู่การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เชิงพาณิชย์เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจีนวางแผนที่จะใช้งานเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุด
             ๒.๒ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทเครือข่ายมือถือจีนยักษ์ใหญ่สามราย ไชน่าโมบาย ไชน่ายูนิคอม และ ไชน่าเทเลคอม ได้เปิดแผนนำร่องทดสอบเครือข่าย 5G ในหลายเมืองของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง กว่างโจว หนานจิง ซูโจว และ หนิงโป โดยการสร้างสถานีฐาน 5G และพัฒนาระบบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง (autonomous driving) เมืองอัจฉริยะ (Smart city) และ บ้านอัจฉริยะผ่านเครือข่าย 5G
             ๒.๓ ทางด้านผู้ประกอบด้านโทรศัพท์มือถือจีนอย่าง “หัวเว่ย” ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก ก็ประกาศลุยพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยได้ประกาศแผนการลงทุน ๕ พันล้านหยวน (๗๘๖ ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อพัฒนา 5G ในปีนี้ นอกจากนั้นยังจะมีการผลิตชิพคอมพิวเตอร์ 5G เครื่องแรกและโทรศัพท์มือถือรุ่น 5G ของบริษัท ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)

บทสรุป

จากการที่จีนจะมีการออกใบอนุญาตสัญญาณโทรศัพท์ 5G ให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสัญญาณได้ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ตามนโยบายรัฐบาลจีน ที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ 5G โดยเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดสำหรับเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่ และบรรดาบริษัทโทรคมนาคมคาดการณ์ว่า 5G จะเริ่มดำเนินการในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันจะทำให้สามารถรองรับยุคสมัย “the Internet of things” ที่การเชื่อมต่อข้อมูลมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่การใช้พลังงานแบตเตอรี่ลดลง นอกจากนี้ การที่จีนติดตั้งระบบนำทางเป่ยโต่ว ซึ่งจะสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วโลกได้ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยจะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถหลบเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุอย่างได้ผล จึงนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีของจีนที่ยังประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.nasaspaceflight.com/2018/03/long-march-3b-beidou-3-meo-satellites/

https://mgronline.com/china/detail/9610000031875

 https://www.forbes.com/sites/baymclaughlin/2018/02/21/this-week-in-china-tech-baidu-battling-ai-news-and-5g-is-coming-to-china-a-year-early/#7229c17d40d0

 https://mgronline.com/china/detail/9610000031399