bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เม.ย.๖๑ : หลักของการ “หยั่งเซิง” (养生) หรือการดูแลสุขภาพแผนจีน

หลักของการ “หยั่งเซิง” (养生) หรือการดูแลสุขภาพแผนจีน ด้วยการจำแนกผลไม้ชนิดต่างๆ ออกตามคุณสมบัติ แล้วเลือกกินให้เหมาะกับภาวะร่างกายในแต่ละช่วงเวลา ก็เพื่อปรับดุลภาวะสุขภาพให้สมดุล และในบรรดาผลไม้ดังกล่าวมีผลไม้ของไทยที่ชาวจีนนิยมชมขอบในรสชาติ อาทิ ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การจำแนกผลไม้ชนิดต่างๆออกตามคุณสมบัติที่ต่างกันได้ ๓ ประเภท คือ
          ๑.๑ คุณสมบัติเย็น เช่น ส้ม ส้มเช้ง ส้มโอ กล้วย ลูกพลับ แตงโม มังคุด เป็นต้น
          ๑.๒ คุณสมบัติร้อน เช่น ลิ้นจี่ องุ่น ทุเรียน ทับทิม เป็นต้น
          ๑.๓ คุณสมบัติละมุนหรือเป็นกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว แอปเปิล เป็นต้น

๒. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ภาวะร่างกายของคนเราเปลี่ยนไป เช่น กรรมพันธุ์ อายุ เพศ สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ การใช้ชีวิตและอาหารการกิน การออกกำลังกาย และอื่นๆ อีกหลายปัจจัย ซึ่งบางปัจจัยควบคุมไม่ได้ เช่น กรรมพันธุ์ อายุ เพศ สภาพแวดล้อม สมฟ้าอากาศ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ เช่น การใช้ชีวิตและอาหารการกิน การออกกำลังกาย ทั้งนี้ คนมีภาวะร่างกายไม่เหมือนกัน โดยอาจจำแนกง่ายๆ ได้ ๔ แบบ คือ
          ๒.๑ คนที่ร่างกายมีภาวะเย็นจัด หรือ หาน-ถี่-จื้อ (寒体质) ร่างกายจะสร้างความร้อนได้น้อย เย็นตามอุ้งมืออุ้งเท้า สีหน้าซีดเซียว มีเหงื่อน้อย ถ่ายเหลวง่าย คนพวกนี้ชอบดื่มแต่น้ำอุ่น ไม่ค่อยกระหายน้ำ ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าว ต่อให้อยู่ในห้องปรับอากาศ ก็ยังรู้สึกไม่สบายตัว
          ๒.๒ คนที่ร่างกายมีภาวะร้อน หรือ เย่อ-ถี่-จื้อ (热体质) ร่างกายสร้างความร้อนได้ค่อนข้างมาก สีหน้าแดงก่ำ กระหายน้ำง่าย ชอบดื่มน้ำเย็น รู้สึกสบายตัวขึ้น ถ้าได้อยู่ในห้องปรับอากาศขณะข้างนอกอากาศร้อนอบอ้าว
          ๒.๓ คนที่ร่างกายอยู่ในภาวะอ่อนแอ หรือ ถี่-จื้อ-ซวี (体质虚) เกิดจากอวัยวะต่างๆของร่างกายเสื่อมหรือหย่อนสมรรถภาพการทำงาน จิตใจห่อเหี่ยวไม่เบิกบาน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
          ๒.๔ คนที่ร่างกายอยู่ในภาวะที่อวัยวะทุกส่วนทำงานมากเกินไป หรือ ถี่-จื้อ-สือ (体质实) คนพวกนี้มักเป็นไข้ง่าย ท้องอืดเฟ้อ ท้องงผูกง่าย หงุดหงิดง่าย

๓. หลักการเลือกกินผลไม้ให้เหมาะกับภาวะร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปคนที่ร่างกายมีภาวะค่อนไปในทางร้อน ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็นให้มาก ส่วนคนที่ร่างกายทีภาวะค่อนไปในทางเย็น ก็ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมบัติร้อน เป็นหลักการง่ายๆ ที่ใช้คุณสมบัติร้อนเย็นของผลไม้มาคานกับภาวะร้อนเย็นของร่ากาย เพื่อให้ภาวะร้อนเย็น หรือยินหยางในร่างกายเกิดความสมดุลขึ้นนั่นเอง กล่าวคือ
          ๓.๑ คนที่ร่างกายมีภาวะเย็น ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมัติร้อน เช่น องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน ทับทิม อาจรวมไปถึงมะพร้าวที่มีคุณสมัติละมุนด้วย เป็นต้น แต่ผลไม้พวกนี้มักมีสัดส่วนน้ำตาลสูง และให้พลังงานสูง กินแล้วเกิดภาวะร้อนได้ง่าย ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้น
          ๓.๒ คนที่ร่างกายมีภาวะร้อน ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมัติเย็น เช่น สาลี่ แตงโม กล้วย มะม่วง อ้อย แตงไทยแคนตาลูป ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ส้มโอ ลูกพลับ มังคุด แห้ว ผลกีวี เป็นต้น แต่ผลไม้พวกนี้ ให้พลังงานต่ำ มีเส้นใยมาก มีน้ำตาลน้อย ยิ่งกินมาก ร่างกายก็ยิ่งไม่ได้รับพลังงาน กินบ่อยกินมาก จะทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง ร่างกายจะอ่อนแอลง
          ๓.๓ คนที่ร่างกายมีภาวะไม่ร้อนไม่เย็น จะเลือกกินผลไม้ได้มากกว่า แต่ที่เหมาะเห็นจะได้แก่ อ้อย สับปะรด เป็นต้น

๔. สำหรับผลไม้ไทยที่ชาวจีนนิยมสูงสุด เห็นจะได้แก่ทุเรียน ที่ชาวจีนเรียกว่า หลิว-เหลียน (榴莲) โดยมีคุณสมบัติร้อนจัดเป็นจุดเด่น แต่ก็กลายมาเป็นข้อเสียที่ทำให้ทุเรียนไม่ใช่ผลไม้ที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ร่างกายมีภาวะร้อน ต้องระวังเรื่องรับประทานทุเรียนไว้เป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ไม่สบายหรือที่ป่วยอยู่แล้ว อาการอาจทรุดลงได้ สำหรับโรคที่มักมีภาวะร้อนแฝงอยู่ในร่างกายเสมอ เช่น โรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคตับ รวมไปถึงคนที่มีอาการร้อนใน หงุดหงิดขี้โมโห นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่แก้ไขได้ด้วยการรับประทานมังคุดซึ่งมีคุณสมบัติเย็นตาม ก็จะช่วยแก้ไขภาวะร้อนนี้ได้

บทสรุป

มีรายงานข่าวว่าบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ของแจ็ค หม่า ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยและเข้าพบหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ เม.ย.๖๑ ได้สร้างความตกตะลึงให้กับคนไทย ที่สามารถขายทุเรียน จำนวน ๘๐,๐๐๐ ลูก ผ่านทางเว็บไซต์ Tmall.com ภายในเวลาแค่ ๑ นาทีเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๖ ก.พ.๖๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก ก็จะเพิ่มความร้อนแรงให้กับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ไทยยอดนิยมของชาวจีนมากยิ่งขึ้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.baike.com/wiki/%E5%85%BB%E7%94%9F 

https://mgronline.com/china/detail/9610000038804 

https://www.thairath.co.th/content/1260361 

https://thaipublica.org/2018/02/eec-ncpo-cabinaet-6-2-2561/