bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เม.ย.๖๑ : กรณีที่สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า การประชุมครั้งที่ ๒ คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติชุดที่ ๑๓ จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

การประชุมครั้งที่ ๒ คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติชุดที่ ๑๓ จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย.๖๑ โดยที่ประชุมพิจารณาญัตติของศาลประชาชนสูงสุด ว่าด้วยการก่อตั้งศาลธุรกรรมการเงินที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 

๑. รายงานข่าวได้ระบุว่ารัฐบาลจีนกำหนดจะเปิดศาลธุรกรรมการเงินที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อดำเนินคดีด้านการเงิน การคลังและด้านธุรกิจโดยเฉพาะ จากเดิมที่คดีความเคยอยู่ในหน้าที่ของศาลประชาชนระดับกลาง ทั้งนี้ นายโจว เฉียง ประธานศาลประชาชนสูงสุดแห่งชาติจีน กล่าวถึงการก่อตั้งศาลธุรกรรมการเงินของจีน จะทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายด้านการเงินทั่วประเทศมีความราบรื่น และผลักดันการปฏิรูปยุทธศาสตร์การเงินแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

๒. ย้อนรอยไปในอดีต เมื่อปี ๑๙๙๑ (พ.ศ.๒๕๓๔) เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาให้เซี่ยงไฮ้ก้าวไปไกลกว่าอดีตด้วยการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของโลก เพื่อส่งเสริมบทบาทของจีนให้มีความเป็นสากล โดยนายเติ้งฯ ได้กล่าวไว้ว่า เซี่ยงไฮ้เคยเป็นศูนย์กลางการเงินและสถานที่แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรีในอดีต ดังนั้นการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ในอนาคตจึงควรจะเดินตามแนวทางเดิมที่เซี่ยงไฮ้เคยมีบทบาทโดดเด่นมาก่อน และการที่จีนจะมีฐานะเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกนั้น จำเป็นจะต้องพึ่งพาเซี่ยงไฮ้เป็นอันดับแรก

๓. ธนาคารประชาชนจีนประกาศตัวเลขสถิติล่าสุด ว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือน มี.ค.๖๑ คิดเป็น ๓,๑๔๒,๘๐๐ ล้านหยวน เพิ่มขึ้น ๘,๓๐๐ ล้านหยวน หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๒๗ เมื่อเทียบกับเมื่อเดือน ก.พ.๖๑ ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือน มี.ค.๖๑ อุปสงค์และอุปทานของเงินตราระหว่างประเทศของจีนมีความมั่นคง ส่วนตลาดเงินตราต่างประเทศก็มีความสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทาน คาดว่าขนาดทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาแนวโน้มที่มั่นคงในอนาคต ขึ้นอยู่กับบรรยากาศด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ยังคงสลับซับซ้อน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงิน

บทสรุป

มหานครเซี่ยงไฮ้ได้รับการส่งเสริมและผลักดันทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งส่งเสริมบทบาทของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญเฉกเช่นมหานครนิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงได้ประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ มี.ค.๕๒ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินโลกภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ควบคู่กับการผลักดันให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก (Yuan internationalization) ซึ่งแน่นอนว่าเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นและนโยบายที่ต่อเนื่องของรัฐบาลจีนในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้มหานครเซี่ยงไฮ้กลับมามีบทบาทสำคัญในเวทีการเงินระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/247/2018/04/26/62s266613.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/04/09/230s266105.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/04/09/230s266105.htm