bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑ เม.ย.๖๑ : การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖ (6th GMS Summit) ระหว่างวันที่ ๓๐-๓๑ มี.ค.๖๑ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (นรม.) และหัวหน้าคณะรักษาความสงบและแห่งชาติ (หน.คสช.) พร้อมคณะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ครั้งที่ ๖ ในขณะที่ นายหวาง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ก็ได้เข้าร่วมการประชุมฯ เช่นเดียวกัน โดยนายหวาง อี้ ได้ถือโอกาสนี้ในการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ ๓๐ มี.ค. - ๒ เม.ย.๖๑ ด้วย

๒. กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เป็นความร่วมมือของ ๖ ประเทศ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองตนเองกว่างซี) เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาในอนุภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดจ้างงาน ยกระดับการครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยผ่านกลยุทธ์หลัก ๓ ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community)

๓. เอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญในการประชุมฯ ครั้งนี้ ได้แก่
        ๓.๑ แผนปฏิบัติการฮานอย ปี ๒๐๑๘-๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕) ซึ่งเป็นกรอบ และแนวทางการดำเนินงานของแผนงาน GMS ในระยะ ๕ ปี ข้างหน้า
        ๓.๒ แผนงาน หรือโครงการภายใต้กรอบการลงทุนของภูมิภาคปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕)

๔. ในการประชุม ฯ ครั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ได้คาดหวังที่จะแสดงบทบาทผู้นำ และจะนำเสนอแนวปฏิบัติของไทยในการดำเนินนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม สร้างสมดุลการใช้น้ำตามหลักการสากล ตลอดจนมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งในประชาคมอนุภูมิภาค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของ นรม. (ซึ่ง นรม. ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับนายเหวียน ซวน ฟุก นรม.เวียดนาม และนายทองลุน สีสุลิด นรม. สปป.ลาว ด้วย) นอกจากนี้ นรม. ยังได้กล่าวถ้อยแถลงที่สำคัญในการประชุมฯ ได้แก่
        ๔.๑ ถ้อยแถลงในหัวข้อ “ปัจจัยสำคัญของแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ ในอันที่จะเพิ่มพูนประโยชน์จากผลสำเร็จที่ผ่านมา และการประสบความสำเร็จท่ามกลางภูมิทัศน์การพัฒนาของโลกที่เปลี่ยนแปลง”
        ๔.๒ ถ้อยแถลงในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ของความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อบูรณาการให้เกิดความมั่งคั่งร่วมกันในรอบ ๒๕ ปีที่ผ่านมา”

บทสรุป

ในขณะที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันในการสร้างอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ โดยมีเป้าหมายใหญ่คือความพยายามคานอำนาจอิทธิพลของจีนที่มีต่ออนุภูมิภาคนี้ ดังนั้นจีนจึงต้องพยายามแสดงบทบาทที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคนี้ และการเข้าร่วมประชุมของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญระดับสูงต่อการส่งเสริมความร่วมมือ และการกระชับความสัมพันธ์กับอีก ๕ ประเทศในอนุภูมิภาค เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งลดความหวาดระแวงของประเทศต่างๆ ที่มีต่อการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนของจีนตลอดจนการระเบิดเกาะแก่งของจีนเพื่อพัฒนาร่องน้ำในแม่น้ำโขง เป็นต้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/247/2018/03/30/62s265785.htm

https://www.prachachat.net/politics/news-137650

http://www.itd.or.th/th/event/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88/ 

http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=91287 

http://konkao.net/read.php?id=27807