bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๓๑ มี.ค.๖๑ : รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเทคโนโลยี

รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อเดือน ก.ค.๖๐ ที่จะผลักดันให้จีนเป็นผู้นำด้าน IT ของโลกภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) จีนจะต้องเป็นผู้นำโลกทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งหมายถึงความฉลาด ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยรวบรวมหลายๆ สิ่งไว้ในสิ่งนั้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้สามารถคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ มีระบบคิด ระบบกระทำอย่างมีเหตุผลตามปัจจัยเหมือนมนุษย์ เช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ, หุ่นยนต์ที่มีความสามารถทำงานคล้ายกับมนุษย์ และระบบการทำงานต่างๆ ในสมาร์ทโฟน เป็นต้น

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะสร้างอุตสาหกรรม IT ที่มีรายได้รวมปีละ ๑ ล้านล้านหยวน รวมทั้งสร้างผลงานใหม่ที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยี IT ภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) และหวังที่จะเร่งพัฒนา AI ในเชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ ไม่เพียงแต่ในเรื่อง smart cities แต่จะรวมไปถึงทางด้านการทหารด้วย

๒. แนวทางหรือวิธีการดำเนินการ
      ๒.๑ กำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะการกระตุ้นภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนการวิจัยไปสู่เป้าหมาย
      ๒.๒ สร้างนครอุตสาหกรรมทั่วประเทศสำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ และเพิ่มความเข้มข้นในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผลผลิตจากการวิจัย AI อีกทั้งจะผลักดันเทคโนโลยีฯ ให้แทรกซึมเข้าไปยังทุกภาคอุตสาหกรรม
      ๒.๓ ซีอีโอของไป่ตู้ (Baidu) ชื่อ โรเบิร์ต ลี ในฐานะเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาประชาชนได้เสนอให้ตั้ง “สมองจีน” (China Brain) เพื่อให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการวิจัยด้าน AI อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกลรุ่นใหม่ รวมทั้งร่างแผนพัฒนา AI ในยุคต่อไป บรรจุรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ AI และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ตลอดจนวางแผนที่จะเพิ่มหลักสูตรดังกล่าวลงในสถาบันอาชีวะและสถาบันการศึกษาระดับสูงในจีน นอกจากนี้ จีนยังได้วางแผนสร้างความร่วมมือร่วมกับสถาบันชั้นนำทางด้าน AI ระดับนานาชาติอีกด้วย
      ๒.๔ เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัย AI แห่งชาติเป็นแห่งแรกขึ้นในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (China University of Science and Technology /USTC) เมื่อเดือน พ.ค.๖๐ เพื่อเป็นศูนย์กลางการรวบรวมผู้มีความสามารถด้านการวิจัยชั้นนำของประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกล ซึ่งมีระบบประมวลผลที่เลียนแบบสมองมนุษย์ ภายใต้ความร่วมมือค้นคว้าวิจัยของสถาบันชั้นนำต่างๆ ทั่วจีน อาทิ มหาวิทยาลัยฟูตั้น, Shenyang Institute of Automation of the Chinese Academy of Science และ ไป่ตู้ เสิร์ชเอนจิ้นใหญ่ที่สุดของจีน
      ๒.๕ รับจดทะเบียนสิทธิบัตรด้าน AI โดยในช่วงเวลาปี ๒๐๑๐ - ๒๐๑๔ (พ.ศ.๒๕๕๓ - ๒๕๕๗) กว่า ๘,๔๑๐ รายการ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงขึ้นกว่า ๕ เท่าตัว เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนฯ ในช่วงปี ๒๐๐๕ - ๒๐๐๙( (พ.ศ.๒๕๔๘ - ๒๕๕๒) ที่มีจำนวนการจดทะเบียนจำนวน ๒,๙๓๔ รายการ

๓. เครื่องมือในการดำเนินการ
      ๓.๑ ปัจจัยด้านการลงทุน โดยมีการลงทุน ๓ อันดับแรก ได้แก่ 

            (๑) คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการดึงสารสนเทศจากรูปภาพหรือวีดิทัศน์ ในสัดส่วน ๒๓%

            (๒) การประมวลผลภาษาโดยธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ในสัดส่วน ๑๙% 

            (๓) การขับขี่อัตโนมัติ ในสัดส่วน ๑๘%

       ๓.๒ ปัจจัยด้านการวิจัย จากการประเมินปริมาณวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ พบว่า การวิจัยด้านเทคโนโลยี AI ของจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว แผนการพัฒนเทคโนโลยี AI ของรัฐบาลจีนดึงดูดให้นักวิจัยชาวจีนในต่างประเทศกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ รวมถึงนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามาในจีน โดยเริ่มมองหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งเป็นคนต่างชาติ อย่าง อเมริกัน ญี่ปุ่น อินเดีย และอิสราเอล ที่มีองค์ความรู้ด้าน AI และพัฒนาด้านนี้มาก่อนจีน ด้วยการให้สิทธิพิเศษ เช่น ได้รับเงินก้นถุง ๑ ล้านหยวน (๕ ล้านบาท) ได้วีซ่า ๑๐ ปี และสามารถครอบครองอสังหาฯ ได้ เป็นต้น

บทสรุป 

การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจีนมีจุดแข็งในด้านข้อมูล (Data) อินเทอร์เน็ต และ Internet of Things (IoT) โดยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว ๗๗๒ ล้านคน เมื่อผนวกเข้ากับการสนับสนุของรัฐบาลจีน จึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ในจีนได้พัฒนาและก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง สมดังวลีที่ว่า “โลกเปลี่ยน เมื่อจีนขยับ”ซึ่งใช้อธิบายความสำคัญของจีนในสายตาชาวโลกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในแผนงานพัฒนาเทคโนโลยี AI ดังกล่าวในข้างต้น

นอกจากนี้ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาทำนายว่า ในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ปกนิตยสารไทม์จะนำภาพของหุ่นยนต์ขึ้นปกในฐานะผู้บริหารที่ดีที่สุดแห่งปี เพราะการปฏิวัติหุ่นยนต์ทำให้จักรกลสามารถทำงานได้รวดเร็วและมีเหตุผลมากกว่ามนุษย์ อีกทั้งไม่มีความหวั่นไหวทางอารมณ์ พร้อมกับเตือนว่า ผู้นำองค์กรที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ควรสรรหาคนหนุ่มรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อรับมือกับยุคที่จะมาถึง และเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โลกต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษา และสร้างวิธีการทำงานกับหุ่นยนต์ ในขณะที่ประเทศไทยก็ตอบรับกับเทรนด์หุ่นยนต์และ AI อย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ เช่นกัน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://www.prachachat.net/world-news/news-8454 

http://www.news1live.com/detail.aspx?NewsID=9600000125925 

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=671&ID=18356

https://www.salika.co/2018/02/13/artificial-intelligence-in-china/

https://www.facebook.com/NewSilkRoadMag/posts/2163505560547472

https://pantip.com/topic/36826300