bg-head-3

บทความ

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันที่ ๒๙ ม.ค.๖๕) วิเคราะห์การดำเนินการของจีน ตาม “แผนแม่บทระเบียงการค้าทางบก-ทะเลสายใหม่แห่งภูมิภาคตะวันตก” ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘)

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันที่ ๒๙ ม.ค.๖๕) วิเคราะห์การดำเนินการของจีน ตาม “แผนแม่บทระเบียงการค้าทางบก-ทะเลสายใหม่แห่งภูมิภาคตะวันตก” (“西部陆海新通道总体规划”) ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) เพื่อมุ่งเน้นในการขยายศักยภาพด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจากพื้นที่ภายในประเทศของจีนไปยังชายฝั่ง โดยในปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ได้ส่งเสริมการก่อสร้างท่าเรือเกตเวย์ระหว่างประเทศ “อ่าวเป่ยปู้” (北部湾) อย่างจริงจัง อันจะเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการสำคัญ ๆ ของจีน ในช่วงแผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔ (“十四五” ระหว่างปี ๒๐๒๑ - ๒๐๒๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔ - ๒๕๖๘) โดยผสานรวมเข้ากับรูปแบบการพัฒนาใหม่ของจีนแบบ "วงจรคู่" (“双循环”) อย่างแข็งขัน กล่าวคือ

๑. การก่อสร้างร่วมกันของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (หรือ “สายแถบและเส้นทาง” / “一带一路” / “Belt and Road Initiative : BRI”) เพื่ออาศัยการเชื่อมต่อโครงข่ายยุทธศาสตร์จีน (มหานครฉงชิ่ง) - สิงคโปร์ ที่จัดทำร่วมกันโดยมณฑล (ภูมิภาคและเมือง) ของจีน และประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ผ่านการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางยุทธศาสตร์ที่ส่งผลในทางเศรษฐกิจ ได้แก่
๑.๑ เส้นทางสายตะวันออก เริ่มจากมหานครฉงชิ่ง ผ่าน เมืองหวยหว้าในมณฑลหูหนาน เมืองหลิ่วโจวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ถึงท่าเรืออ่าวเป่ยปู้
๑.๒ เส้นทางสายกลาง เริ่มจากมหานครฉงชิ่ง ผ่านนครกุ้ยหยางซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว และนครหนานหนิงเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถึงท่าเรืออ่าวเป่ยปู้
๑.๓ เส้นทางสายตะวันตก เริ่มจากนครเฉิงตูซึ่งป็นเมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ผ่าน เมืองหลูโจวในมณฑลซื่อชวน และเมืองไป่เซ่อในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ไปยังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้

๒. การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศจีน - ยุโรป ไปทางทิศตะวันตก กับแถบแม่น้ำแยงซีไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน - คาบสมุทรอินโดจีนไปทางทิศใต้ ในรูปแบบใหม่ของการเปิดกว้างด้วยการเชื่อมโยงภายในและภายนอก ตลอดจนความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของจีน

บทสรุป แผนแม่บทระเบียงการค้าทางบก-ทะเลสายใหม่แห่งภูมิภาคตะวันตก จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีนสู่ยุโรป

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://gx.people.com.cn/n2/2021/0124/c179430-34544248.html และเว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/334818443_260616 รวมทั้งเว็บไซต์ http://cddrc.chengdu.gov.cn/cdfgw/fzggdt/2021-09/03/content_12ffab83d4b9414bbf349b999945460a.shtml และเว็บไซต์ http://www.vijaichina.com/articles/2391 )