จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2009 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 24.38 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว แต่สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตต่างมองหาตลาดอื่นในเอเชียแทน และตลาดที่น่าสนใจที่สุดขณะนี้ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่ยังมีแนวโน้มการบริโภคขยายตัวได้อีกมาก
“ตอนนี้มีความท้าทายว่าความเติบโตจะไปอยู่ที่ไหน คุณต้องมองไปในบรรดาชาติที่ยังมีการครอบครองรถยนต์น้อยและกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการเติบโตหรือขยายตัวเร็วขึ้น” มาร์ก บอยลาร์ด นักวิเคราะห์ของโอลิเวอร์ ไวแมน กล่าวกับเอเอฟพี
อาเซียนมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และมียอดขายรถยนต์ร่วมในประเทศสมาชิกทั้ง 10 ชาติ ที่ 2.1 ล้านคันในปีที่แล้ว และกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนประชาชนที่ครอบครองรถยนต์ในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวเท่ากับจีน เช่น เวียดนาม มีสัดส่วนรถยนต์ต่อประชากรที่ 30 คัน/1,000 คน เมื่อเทียบกับจีนที่ 120 คัน หรือสหรัฐที่ 800 คัน/1,000 คน
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังคงเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ ทั้งการเก็บภาษีนำเข้าในระดับสูงและโครงสร้างพื้นฐานไม่ครอบคลุมในชาติอาเซียน
“เมื่อเรามองประเทศเหล่านี้รวมกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างดี หากเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและธนาคารมีประสิทธิภาพเพียงพอ” เซบาสเตียน อามิชิ จากบริษัทที่ปรึกษาโรแลนด์ เบอร์เกอร์ กล่าว
นอกจากนี้ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือตลาดอาเซียนในปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ “ญี่ปุ่น” เป็นเจ้าครองตลาดอยู่แล้ว
ญี่ปุ่นครองตลาดอาเซียน
เดวิด สกอช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของฟอร์ดไชน่า เปิดเผยว่า ฟอร์ดถอนตัวจากตลาดอินโดนีเซียไปเมื่อปีที่แล้ว หลังเผชิญส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ญี่ปุ่นในอินโดนีเซียสูงมากกว่า 90%
ในขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นในประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดย ฟรองซัวส์ โจแมง จากไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ออโต้แฟคส์ ระบุว่า แม้เวียดนามจะมีสัดส่วนครอบครองลดน้อยลง แต่รถยนต์ญี่ปุ่นครองตลาดอยู่ที่สัดส่วน 59% ของทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวในไทยก็สูงถึง 71%
สำหรับยอดขายในปี 2016 ที่ผ่านมา เอเชียมอเตอร์บิสิเนส ดอทคอม รายงานว่า ยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นใน 5 ชาติหลักของอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยและมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้น 3.3% เป็น 2.62 ล้านคัน หรือครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 84% โดย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งที่ 98.5% ของยอดขายทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว ส่วนไทยอยู่ที่ 88% ตามมาด้วยมาเลเซียที่ 78%
สำนักข่าวดังกล่าวรายงานว่า โตโยต้าเป็นเจ้าตลาดอาเซียนด้วยยอดขายในปีก่อนที่สูงมากกว่า 9.1 แสนคัน และคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 29% โดยในอินโดนีเซีย แบรนด์ไดฮัตสุ ของโตโยต้า เป็นส่วนหลักที่ช่วยสร้างยอดขายในอินโดนีเซีย ซึ่งทำยอดคิดเป็นสัดส่วน 56% ของยอดขายทั้งหมดของแดนอิเหนา
ยานยนต์สีเขียวบูมในจีน
สกอช ซีอีโอของฟอร์ด ไชน่า เปิดเผยว่า ฟอร์ดวางแผนลดการผลิตรถปิกอัพในจีนลงครึ่งหนึ่ง หลังยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและ SUV กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อผมนั่งลงและมองไปรอบๆ ผมคิดถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัจฉริยะ และคิดว่าอุตสาหกรรมจะไปในทิศทางไหน ตลาดไหนที่เราจะเข้าไปเดิมพัน” สกอช กล่าว
ขณะเดียวกัน นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งจากตะวันตกและญี่ปุ่นต่างหยิบยกยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นเป็นจุดเด่นของงานแสดงรถยนต์ เซี่ยงไฮ้ ออโต้ โชว์ ครั้งที่ 17 ซึ่งเริ่มต้นไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา
จีนมีนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรับมือกับปัญหามลพิษภายในประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 12% ภายในปี 2020 เริ่มมีผลบังคับใช้ปีหน้า
สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ในจีน คือ โฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตจากเยอรมนี โดย เฮอร์เบิร์ต ดีสซ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการแบรนด์รถยนต์ กล่าวว่า โฟล์คสวาเกนเตรียมเพิ่มการผลิตในจีน หลัง 60% ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1 ล้านคัน มาจากตลาดจีนเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา
ด้านผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นแม้จะยังคงตามหลังคู่แข่งจากชาติตะวันตกสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีน แต่ก็พยายามที่จะจับตลาดดังกล่าวเช่นกัน อาทิ นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งปัจจุบันขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนแล้ว และเตรียมที่จะเพิ่มการผลิตด้วยการจับมือกับตงเฟิง มอเตอร์ เป็นกิจการร่วมค่า เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในปีหน้า โดยตั้งเป้าหมายจะเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตระดับท็อปในจีนต่อไป
ที่มา : PostToday