สำนักข่าวซีจีทีเอ็น สื่อประเทศจีนรายงานว่า ยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-1 (Tianzhou-1) เสร็จสิ้นการทดสอบอย่างรวดเร็วภายในห้องปฏิบัติการทางอวกาศเทียนกง-2 การทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบจอดเทียบท่าอย่างรวดเร็วคาดว่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเเผนการสร้างห้องปฏิบัติการอวกาศเเบบถาวรของจีน
โดย เทียนโจว-1 เป็นยานขนส่งลำแรกที่จีนสร้างขึ้นเอง สามารถโคจรโดยไม่มีนักบินได้นานถึง 3 เดือน ใช้สำหรับบรรทุกเสบียงและอุปกรณ์ทดลองสำหรับห้องปฏิบัติการในอวกาศ เป็นยานอวกาศขนส่งสินค้าขนาดความยาว 9 เมตร กว้าง 3 เมตร สามารถบรรทุกสัมภาระได้มากถึง 6,500 กิโลกรัม ทั้งยังบรรทุกเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางได้ถึง 2 ตัน
ในรายงานเผยว่า ยานขนส่งเทียนโจว-2 ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่งเพื่อเข้าจอดเเละเชื่อมต่อยานเทียนกง-2 นับเป็นการทดสอบครั้งที่ 3 ในการใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเเบบเร็ว โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ยานอวกาศเถียนโจว-1 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง ในมณฑลไห่หนาน ยานอวกาศดังกล่าวจะเข้าไปจอดที่สถานีวิจัยอวกาศเทียนกง-2 ของจีนเพื่อส่งเชื้อเพลิงและสิ่งของพร้อมกับทำการวิจัยอวกาศก่อนที่จะกลับลงสู่โลก
ซีจีทีเอ็นระบุว่า จีนกำลังมุ่งเป้าที่จะสร้างสถานีอวกาศ ให้ได้ในปี 2022 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาต่อจากนั้นอย่างน้อย 10 ปีในการดำเนินการ โดยการปล่อยยานขนส่งสิ่งของครั้งแรกนี้จะเป็นครั้งสำคัญที่จะช่วยการรักษาและซ่อมแซมสถานีอวกาศในภายหน้า ซึ่งหากไม่มียานอวกาศส่งสิ่งของแล้ว สถานีอวกาศจะสูญสิ้นพลังงานและของใช้จำเป็นในสถานีซึ่งจะทำให้ตกลงสู่โลกก่อนเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตามการพัฒนายานอวกาศของจีน ส่งผลให้เป็นจีนกลายเป็นประเทศที่สามในโลกที่จะเป็นมหาอำนาจทางอวกาศอีกชาติหนึ่ง รองลงมาจากรัสเซียและสหรัฐฯ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์