bg-head-3

ข่าวสาร

“คลัง” ลั่นดาลไม่ขึ้นดอกเบี้ย ผวาเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางฟื้นตัวยาก

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีทิศทางสดใสส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าปีที่แล้ว โดยปีนี้อัตราการเติบโตจะสูงกว่า 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น กระทรวงการคลังจะพยายามประคับ ประคองเศรษฐกิจไม่ให้สะดุด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนั้นยังไม่กระจายตัวไปทั่วประเทศโดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แม้กระทรวงการคลังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ตาม แต่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ตลอดทั้งปีไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“กระทรวงการคลังไม่ได้ทะเลาะกับ ธปท.แต่เป็นการหารือธรรมดาและเป็นได้ด้วยความใกล้ชิดที่ดีต่อกัน ซึ่ง ธปท.ก็ทราบว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบาง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมคือระดับปัจจุบันที่ 1.50% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นไปแล้วและยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกหลายครั้งถือเป็นเรื่องภายในประเทศสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจไทยต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เพราะขณะนี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีกำหนดไว้ที่ 1-4%”

ส่วนภาคการส่งออกของไทยในขณะนี้ ยังเชื่อว่า ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 8% แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่สร้างความกังวลว่า จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมีกับทุกประเทศมากน้อยแตกต่างกันไป แต่สำหรับไทยแล้ว คงได้รับผลกระทบไม่มากนัก จึงต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะไทยต้องพึ่งพาการส่งออก อย่างไรก็ตาม หากมองมุมบวกของสงครามการค้าของประเทศขนาดใหญ่น่าจะส่งผลดีกับไทยเพราะเป็นโอกาสที่สินค้าไทยจะขายได้มากขึ้น

ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. วานนี้ (28 มี.ค.) ว่า กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยเป็นการลงมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียง โดยเสียงข้างน้อยมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.5% เป็น 1.75% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่า ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน ส่งผลให้ประชาชน และภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่การลดระดับผ่อนคลาย นโยบายการเงินลงบ้าง ในภาวะปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และดีกว่าที่ประเมินไว้เมื่อไตรมาสก่อน แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 3.9% เป็นขยายตัว 4.1% และเศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัวที่ 4.1% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จาก 1.1% ลดลงเหลือ 1% ในปีนี้ และปีหน้าเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 0.7% และปีหน้า 0.8%

“การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการส่งออกปีนี้เป็น 7% จากเดิมคาดว่า ขยายตัว 4% และยังเพิ่มการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 37.6 ล้านคน จากเดิม 37.3 ล้านคน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยอยู่ที่ขยายตัว 3.3% ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือน และการจ้างงาน โดยเห็นว่า ราคาอาหารสดและราคาสินค้าเกษตรยังคงทรงตัว ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของภาคการเกษตร”

ขณะที่แรงงานจากภาคอุตสาหกรรมย้ายไปภาคบริการที่ค่าจ้างต่ำกว่า เนื่องจากผลกระทบการใช้เครื่องจักรแทนคน มีผลต่อรายได้ของแรงงานรายได้ต่ำ ทำให้คนระดับกลางลงไปมีผลกระทบด้านรายได้ เพราะไม่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงทำให้ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี คนที่มีรายได้ระดับกลางสูงเริ่มมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน.

 

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์